แฉแบงก์ยื้อทำประกันภัยไซเบอร์
คปภ.ห่วงกฎหมายประกันภัยทางทะเลล่าช้า หวั่นกระทบธุรกิจขนส่งทางน้ำที่มีมูลค่ามหาศาล เผยกฎหมายเอาผิดพวกฉ้อฉลประกันภัยใกล้คลอดแล้ว ระบุ “ภัยไซเบอร์” น่ากลัว แต่แบงก์พาณิชย์ยังยื้อทำประกันภัยความเสียงจากแฮ็กเกอร์ แม้ภาพรวมยอดขายประกันชีวิตมีสูงกว่ากลุ่มโบรกเกอร์ประกันภัย
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงกรณีธนาคารพาณิชย์ยังไม่สนใจจะทำประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหา “ภัยไซเบอร์” หลังจากเกิดกรณีแฮ็กเกอร์ต่างชาติทำการเจาะข้อมูลหลังบ้านของธนาคารกรุงไทยและธนาคารกสิกรไทยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า เรื่องดังกล่าว คปภ.ได้หารือกับทางสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมธนาคารไทยไปแล้ว แม้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการทำประกันภัยเพื่อรับมือกับปัญหา “ภัยไซเบอร์” โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์ต้องรับผิดต่อลูกค้าทุกกรณีนั้น แต่เนื่องจากเป็นเรื่องจำเป็นต้องใช้เวลาสักระยะเพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบ
ทั้งนี้ ตนมองว่าแม้การทำประกันภัยในส่วนนี้จะเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ แต่คงไม่เป็นปัญหามากนัก เนื่องจากหากเกิดกรณีแฮ็กเกอร์เจาะข้อมูลกระทั่งสร้างเสียหายต่อลูกค้าแล้ว จะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่สูญเสียมากกว่า เพียงแต่ความล้าช้าของการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ น่าจะมาจากขนาดของบริษัทประกันภัยที่จะมารองรับความเสียหายหากต้องเกิดขึ้นมากกว่า เนื่องจากทุกวันนี้บริษัทประกันขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังอาจไม่เพียงพอต่อการจะแบกรับมูลค่าความเสียหายข้างต้น จำเป็นที่ คปภ.ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “บริษัทประกันภัยต่อ” (Reinsurunce) ให้มากยิ่งขึ้น ตามที่ได้รับนโยบายมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
คปภ.ต้องการส่งเสริมให้มี “บริษัทประกันภัยต่อ” มากขึ้นในประเทศ ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ไม่สำคัญ ขอเพียงให้เกิดภาวะการแข่งขันที่เป็นธรรม สร้างประโยชน์และโอกาสต่อลูกค้า โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ที่จะเข้าร่วมโครงการประกันความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ ส่วนตัวคิดว่าถ้าเป็นบริษัทต่างประเทศที่มาเปิดสำนักงานสาขาในประเทศไทยได้จะเป็นเรื่องที่ดี”
ส่วนกรณีความเสี่ยงของ “ภัยไซเบอร์” กับธุรกิจประกันภัยนั้น เลขาธิการ คปภ. ย้ำว่า ตนมองเห็นปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยหลังจากเกิดกรณีแฮ็กเกอร์กับธนาคารพาณิชย์ของไทย คปภ.ได้ส่งหนังสือเตือนไปยังบริษัทประกันภัยต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจประกันชีวิต พร้อมกันมีการหารือกับทางสมาคมฯและบริษัทที่เกี่ยวข้องไปบ้างแล้ว รวมถึงหารือกับสมาคมธนาคารไทย เนื่องจากขณะนี้ มีธนาคารพาณิชย์ทำหน้าที่ขายประกันภัย หากถูกแฮ็กข้อมูลก็อาจกระทบกับลูกค้าธนาคารพาณิชย์ ในกลุ่มที่ซื้อประกันชีวิตตามมาด้วย ทั้งนี้ เพราะข้อมูลที่มีพบว่าธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนการขายประกันชีวิตรวม มากกว่า 47% ซึ่งสูงกว่ายอดขายรวมของบริษัทตัวแทนนายหน้าค้าประกันฯแล้ว
นอกจากนี้ นายสุทธิชัยยังกล่าวถึงการปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยทั้งระบบ เนื่องจากมีกฎหมายบางฉบับที่ค่อนข้างล้าหลัง และไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากรัฐบาลได้ออกกฎหมายมาเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยย้ำว่า หลังจากที่ตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีก่อน ภารกิจแรกในฐานะที่เป็นนักกฎหมายและอดีตผู้พิพากษา คือ พยายามเร่งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นการเอาผิดกับกลฉ้อฉลในการประกันภัย ซึ่งในส่วนนี้มี 28 มาตรา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมายถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นการพิจารณาและวินิจฉัยในบางประเด็นและบางมาตราจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จึงต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ ทำให้ใช้เวลาในการดำเนินการที่ยาวนาน ทั้งนี้ เท่าที่ทราบเรื่องดังกล่าวได้ส่งต่อกลับมายังกระทรวงการคลังแล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการไปแล้ว คาดว่าจะส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ในระยะเวลาไม่นานจากนี้ และหากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คปภ.ก็สามารถนำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้ได้ทันที
“ กฎหมายอีกฉบับที่ผมได้เร่งให้ดำเนินการจัดทำ ก็คือ พ.ร.บ.ประกันภัยทางทะเล ซึ่งที่ผ่านมาบ้านเรายังไม่มีกฎหมายตัวนี้ใช้ จำเป็นต้องยืมกฎหมายที่มีลักษณะใกล้เคียงกันจากประเทศอังกฤษมาปรับใช้ ซึ่งก็ยังไม่ตรงกับสภาพปัญหาของเรา ดังนั้น คปภ.จึงพยายามเร่งจัดทำกฎหมายตัวนี้ขึ้นมา เพื่อหวังจะนำมาไปบังคับใช้กับการประกันภัยทางทะเล ซึ่งมีแนวโน้มการขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มสูงมากขึ้นทุกปี จำเป็นจะต้องมีกฎหมายเป็นการเฉพาะมาใช้กับการทำประกันภัยในลักษณะนี้ แต่ผ่านมาเกือบ 3 ปี ดูเหมือนทุกอย่างยังคงล่าช้า แม้ว่าเรื่องจะถูกส่งออกไปจาก คปภ.นานแล้วก็ตาม ” เลขาธิการ คปภ. ย้ำในที่สุด.