ชะตากรรมแบงก์รัฐ ยุค “ผู้นำ” ไม่ได้มากความสามารถ
ยุคที่ “ผู้นำ” ไม่ได้มากความสามารถเหมือนผู้นำในต่างประเทศ อย่าว่าแต่คนไทยและธุรกิจไทย…จะได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมเลย แม้แต่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเอง ก็แทบจะเอาตัวไม่รอด!
ต่อเนื่องนับแต่เมื่อครั้งที่โลก…เกิดสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ช่วงกลางปี 2561 จากเหตุ “ตั้งกำแพงภาษีการค้า – ใส่กัน” ด้วยสารพัดข้อกล่าวหาที่ต่างฝ่ายต่างยัดเยียดให้กัน
ครั้งนั้น ส่งผลสะเทือนในทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก เหตุเพราะปัญหาที่เกิดขึ้น มาจาก 2 ชาติมหาอำนาจ ทั้งในด้านการเมือง การทหาร และด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างหลังนี้…พวกเขาได้ชื่อว่าเป็น “เบอร์ 1” และ “เบอร์ 2” ของโลกกันเลยทีเดียว!
ประเทศไทยในฐานะที่พึ่งพิงรายได้จากต่างประเทศ…ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ต่างได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม
บางเรื่องร้าย บางเรื่องดี! แต่ภาพใหญ่ “ร้ายมากกว่าดี” เพราะผู้ส่งออกไทย ทั้งตัวจริงและซัพพลายเชน ต่างได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าของ 2 มหาอำนาจ
เหตุจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ลากยาวไปถึงปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 แม้สัญญาและแนวโน้มแห่งปัญหา…เริ่มจะคลี่คลายพอได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์กันบ้าง
ทว่า! ความวัวไม่ทันจางหาย…ความ “ไวรัสโควิด-19” ก็กระหน่ำโลก นับแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา…จนถึงปัจจุบัน โรคร้ายที่มีต้นเรื่องมาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ยังไม่จางหาย แถมยังกลายพันธุ์พัฒนาความเลวร้ายและรุนแรง จนยากจะรับมือไหว
ประเทศไทย…ที่เศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัว! จากผลพวงของสงครามการค้าฯ กระทั่ง ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย มีมากเกือบ 40 ล้านคน ณ สิ้นปี 2562
กลับถูกฉุดรั้งจนดำดิ่ง! เหมือนที่หลายๆ ประเทศทั่วโลก…ต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน
รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศยึดอำนาจตัดสินใจ ผ่านช่องทางกฎหมาย ตั้ง…ศบค.ขึ้นมา แล้วดึงอำนาจการบริหารและตัดสินใจจากหน่วยงาน/กระทรวงที่เกี่ยวข้อง มารวมศูนย์ไว้กับตัว นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.
แถมยังออก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพิ่มอำนาจแบบ “เบ็ดเสร็จเด็ดขาด – ครบวงจร” ในการรับมือ ต่อสู้ และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ
ผ่านมา 1 ปีครึ่ง…ประเทศไทย ต้องเจอกับภาวะการระบาดระลอกใหญ่ถึง 3 ครั้ง และทุกครั้ง! มาจากคนในอำนาจรัฐทั้งสิ้น! แม้วันนี้…จะยังอยู่ในระลอกที่ 3 แต่หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า…ระลอก 4 กำลังจ่อถล่ม! ประเทศไทยหรือไม่?
ความอ่อนหัด…ในแง่ทัศนคติ การบริหาร และตัดสินใจเชิงนโยบายฯ ทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดฯ และจัดหาวัคซีนต่อต้านไวรัสโควิดฯ มีปัญหาอย่างที่เห็นๆ กัน…
มีไม่กี่อย่าง…ที่รัฐบาลชุดนี้ ทำได้…นั่นคือ กู้เงินมาแจก ผ่านโครงการ/มาตรการของรัฐ กับข้ออ้าง…เยียวยาเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาที่เกิดจากไวรัสโควิดฯ ทั้งตัวคนและธุรกิจ โดยเฉพาะ “คนตัวเล็ก” ระดับเอสเอ็มอีลงมา รวมถึงเอสเอ็มอีขึ้นไปบางกลุ่ม?
หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและสถานบันเทิง รวมถึงร้านอาหารและเครื่องดื่ม ต่างได้รับผลกระทบที่รุนแรง จากนโยบาย “ล้อคดาวน์” ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดระลอกแรก
ภาวะ ธุรกิจเจ๊ง! แรงงานตกงาน ขาดร้ายได้ และไม่มีเงินใช้ หลายคนเดินทางกลับบ้านเกิด แต่ทุกคนก็ยอม…หวังเพียง “เจ็บแล้วจบ!”
ภาวะ ธุรกิจเจ๊ง! แรงงานตกงาน ขาดร้ายได้ และไม่มีเงินใช้ หลายคนเดินทางกลับบ้านเกิด แต่ทุกคนก็ยอม…หวังเพียง “เจ็บแล้วจบ!”
นอกจากกู้เงินมาแจก…ยังบีบให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น…ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส., ธอส. SME D BANG, EXIM BANK, บสย. และอื่นๆ ต้องออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อมาช่วยเหลือลูกหนี้ และที่ไม่ใช่ลูกหนี้
ตั้งแต่…พักเงินต้น, หยุด และ/หรือ ลดดอกเบื้ย, ยืดเวลาการชำระหนี้ให้ยาวแล้วยาวอีก รวมถึงการปล่อยกู้ก้อนใหม่ ด้วยสารพัดเหตุผล…
ความโควิดฯ ที่หนักหน่วงและยังดำรงอยู่ในระดับรุนแรงมากยิ่งๆ ขึ้น ไม่ทันคลี่คลาย…กระนั้น ความโชคร้ายของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีบ้านพักอาศัย และ/หรือ มีที่ทำงานอยู่ในรัศมี 1 กม. ห่างจากจุดเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกของ บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ย่าน ถ.กิ่งแก้ว บางพลี สมุทรปราการ
พลอยกระหน่ำใส่ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์ของรัฐ) ไปด้วย…หนักสุด! ที่โดนมาตั้งแต่ สงครามการค้าสหรัฐ-จีน, จนถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ และล่าสุด กับเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ที่ ถ.กิ่งแก้วฯ
คงไม่พ้น “ตัวหลักๆ” อย่าง…ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส., ธอส., SME D BANG, EXIM BANK, บสย. เพราะเป็น สิ่งเดียวที่รัฐบาลชุดนี้…สั่งซ้ายหัน ขวาหันได้ และสั่งได้ทันที!
โดยไม่คำนึงว่า…ความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ฯ โดยใบสั่งและแรงบีบจากรัฐบาลนั้น จะส่งผลต่อการดำเนินงานในปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 ปี 2566 และปีต่อๆ ไปอย่างไร?
หลายแบงก์ของรัฐ จำต้องออกมาตรการควบคู่และทับซ้อนกันไป…ระหว่างแก้ไขปัญหาโควิดฯ บวกกับแก้ปัญหาเหตุระเบิด-เพลิงไหมฯ ไปพร้อมกัน
แม้…ปัญหาหลัง (เหตุระเบิดฯ) ระดับความรุนแรงจะมีไม่มากนัก แต่มันก็สะท้อนภาพที่ว่า…นึกอะไรไม่ออก รัฐบาลก็สั่งให้แบงก์ของรัฐ ทำไปก่อน ฉิบหายอย่างไร? ค่อยไปว่ากันทีหลัง
หนักของหนักสุดๆ…น่าจะเป็น ธนาคารออมสิน ภายใต้การนำของ นายวิทัย รัตนากร ผอ.คนปัจจุบัน ที่ต้องเจอสารพัดใบสั่ง! จนมีการประเมินกันว่า…รายได้ในปีนี้ อาจจะตกลงไปไม่มากนัก แต่ทว่า…กำไรจากการดำเนินงาน อาจมีปัญหา…
ประมาณการเดิมที่ตั้งกันเอาไว้ว่า ปี 2564 ธนาคารออมสิน จะมีกำไรจากการดำเนินงานไม่ต่ำกว่าปีก่อนหน้า กล่าวคือ 1.3 หมื่นล้านบาท นั้น กับสถานการณ์ความเป็นจริง! คงไม่ง่ายอีกแล้ว
และไม่ใช่แค่เพียงธนาคารออมสิน แต่เป็นปัญหาของทุกแบงก์รัฐอื่นๆ ที่ต่างก็ต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน!
กล่าวคือ…เป็นภาวะที่สร้างความกดดัน จนอาจทำให้…ผู้บริหารระดับสูงและทุกระดับ เกิดภาวะความเครียดจากนโยบายรัฐ ที่เน้นผลงานของตัวเอง (รัฐบาล) โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจมีตามมากับแบงก์ของรัฐ
แถมเนื้องานและภาระหน้าที่ที่แจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่แต่ละธนาคารฯ รับไปดำเนินการ บนความรับผิดชอบ…ยังจะมีเพิ่มมากขึ้น
งานหนัก โอกาสจะได้รับโบนัสน้อยลง เพราะต้นสังกัดมีกำไรลดลง เป็นผลจากการที่ต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล
ต่อให้…ปัญหาโควิดฯ และเหตุระเบิด-เพลิงไหม้ฯ จบไปแล้ว แต่เชื่อเถอะว่า…ปัญหาที่หมักหมมจากการต้องทำงานตามใบสั่งและแรงบีบจากรัฐ จะยังไม่จบ! และทำท่าว่าจะจบแบบไม่สวย
และแม้รัฐบาลจะตั้งวงเงินชดเชยค่าความเสียหาย จากการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ ให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
นั่นก็คงไม่เพียงพออยู่ดี!!!
เกิดเป็นแบงก์ของรัฐ ในยุคที่…ผู้นำไม่ได้มากความสามารถ เหมือนผู้นำรัฐบาลประเทศอื่นๆ ก็ต้องทำใจ และทำตัวเลขทางบัญชีให้ออกมาดูดี…เท่านั้นพอ!.