KWM เล็งเป้า CLMV ขยายสินค้าเครื่องจักร การเกษตร
KWM เตรียมแผนขยายสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร เข้าไปสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น นำร่องในกลุ่มประเทศ CLMV คาดชัดเจนภายในปี 65
นางสาวติยาภรณ์ วนโกสุม กรรมการผู้จัดการ บมจ.เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค (KWM) เปิดเผยว่า บริษัทปรับเป้ารายได้ปีนี้ขึ้นเป็นเติบโต 40% จากเดิมคาดโต 15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 355 ล้านบาท หลังยอดขายสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตรมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอานิสงส์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ย้ายกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมเพื่อประกอบอาชีพในภาคการเกษตร
สำหรับแนวโน้มและทิศทางในครึ่งปีหลัง คาดว่ายังคงมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรที่ผลิตให้กับกลุ่มบริษัทเครื่องจักรการเกษตรชั้นนำ ได้แก่ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายใต้แบรนด์ตราช้าง รวมถึงสินค้าภายใต้แบรนด์ Pegasus ซึ่งเป็นตราสินค้าของบริษัทเองที่ผลิตอุปกรณ์การเกษตร อาทิ ใบผาล ใบจักร ใบคัดท้าย โครงผาล ใบดันดิน ใบเกลียวลำเลียง ยังมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาขยายสินค้าเข้าไปสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากนำร่องในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งจะเป็นลักษณะการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีเครือข่ายและช่องทางการจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์การเกษตรในกลุ่ม CLMV เบื้องต้นคาดว่าแผนขยายตลาดต่างประเทศน่าจะมีความชัดเจนภายในปี 65
ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ขยายตลาดเข้าไปในประเทศเมียนมาแล้ว โดยใช้สินค้าภายใต้แบรนด์ Pegasus ที่ผลิตอุปกรณ์การเกษตร เช่น ใบผาล ใบจักร ใบคัดท้าย เป็นต้น โดยมองว่าตลาดเครื่องมือการเกษตรในเมียนมาค่อนข้างใหญ่ ถึงแม้จะมีปัญหาภายในประเทศแต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรมากนัก ประกอบกับแบรนด์สินค้าของคนไทยได้รับการยอมรับมากกว่าแบรนด์ของประเทศอื่นอีกด้วย
นายอุกฤษณ์ วนโกสุม รองกรรมการผู้จัดการ KWM กล่าวว่า ยอดคำสั่งซื้อการผลิตเครื่องสกัดสารจากสมุนไพร KWM Extractor 1.0 ล่าสุดมียอดคำสั่งซื้อพร้อมติดตั้งเครื่องสกัดดังกล่าวเข้ามาแล้วจำนวน 10 เครื่อง โดยเตรียมส่งมอบภายในปีนี้ทั้งหมด และคาดว่าจะทยอยมีออเดอร์เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทมั่นใจว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะโดดเด่นเมื่อเทียบจากครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ตามคาดว่ายอดคำสั่งซื้อมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 60 เครื่องภายในปี 67 เนื่องจากเครื่องสกัดดังกล่าวมีจุดเด่นคือจะได้สารสกัดที่มีคุณภาพสูง และถ้าหากลูกค้ามีเครื่องสกัดเองก็จะลดค่าใช้จ่ายเรื่องการขนส่งได้
สำหรับบริการให้เช่าเครื่องสกัด KWM Extractor 1.0 จะคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง ราคาอยู่ที่ 6,000 บาท/ครั้ง จำนวนการสกัดขั้นต่ำ 150 ครั้ง/ปี ทำให้คาดว่าจะมีรายรับจากเครื่องสกัดที่ 900,000 บาท/เครื่อง/ปี นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการดูแลเครื่องจักรหลังการขาย คาดว่าจะสร้างรายได้อีกปีละ 360,000 บาท พร้อมทั้งในเครื่องสกัดจะมีระบบ Data base ซึ่งสามารถนำข้อมูลพืชสมุนไพรที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้อีกในหลายอุตสาหกรรม