พิษโควิดฯฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภูมิภาคหดตัว
สศค.แจง! เศรษฐกิจรายภูมิภาค เม.ย.64 ยังได้รับแรงหนุนจากการบริโภคและการลงทุนเอกชน ขณะที่ ดัชนี RSI ส่วนใหญ่ซมพิษโควิดฯ ดึงความเชื่อมั่นหดตัว
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ รองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือนเมษายน 2564 และดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ว่า ในส่วนของเศรษฐกิจภูมิภาค ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในหลายภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
โดย เศรษฐกิจภาคกลาง ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ขณะที่ เศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง
ด้าน เศรษฐกิจภาคเหนือ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับ ส่วน เศรษฐกิจภาคใต้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง
สำหรับ เศรษฐกิจภาคตะวันตก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง และ เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง ขณะที่ เศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง
ทีมงานโฆษก สศค. ยังกล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ว่า ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาคเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน2564อย่างไรก็ตามภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
โดย ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 57.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคตโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความต้องการสินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ของสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 55.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคการจ้างงานเนื่องจากเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก ประกอบกับการมีนโยบายความช่วยเหลือภาคการเกษตรต่างๆ จากภาครัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ 49.7 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะทรงตัว โดยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคการจ้างงานเนื่องจากคาดว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019คลี่คลายจะทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้นประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 48.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในอนาคตที่ปรับตัวชะลอลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรเนื่องจากจะเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรประกอบกับการมีมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรจากภาครัฐส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อาทิ นโยบายประกันรายได้เกษตรกร เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 48.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ชะลอลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลงจากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลางอยู่ที่ 48.3 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ชะลอลงเช่นกัน แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยคาดว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าวคลี่คลายจะทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้นประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมได้ปัจจัยสนับสนุนจากยอดการสั่งซื้อสินค้าเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของกทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 46.7 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแต่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม.