ประกาศ พรก.กู้ 5 แสนล้าน รัฐบาลแจง เหตุผลความจำเป็น
ประกาศ พรก.กู้ 5 แสนล้าน อาคม แจง ใช้จ่าย 3 ส่วน สุพัฒนพงษ์ ยืนยัน กู้เพื่อประชาชน
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนล้าน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แถลงว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้จ่ายใน 3 ส่วนประกอบด้วย
1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุง สถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 30,000 ล้านบาท
2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือ ผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง 300,000 ล้านบาท
3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน หรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุน และการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ 170,000 ล้านบาท
นายอาคม กล่าวว่า การกู้เงินดังกล่าว จะส่งผลให้ในเดือน ก.ย.นี้ หนี้สาธารณะของประเทสไทยจะอยู่ที่ 58.56% ต่อ GDP
ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวว่า เงินกู้ดังกล่าวเพื่อดูแลประชาชน ผู้ประกอบการ แรงงาน และสร้างงานให้กับภาคประชาชนในระดับท้องถิ่น รวมถึงจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะควบคู่ไปกับโครงการซอฟต์โลน พักชำระหนี้ ให้กับผู้ประกอบการ วงเงิน 3 แสน 5 หมื่นล้านบาทที่ออกไปก่อนหน้านี้
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงินในครั้งนี้เพื่อจะรองรับความไม่แน่นอน ของการระบาดในอนาคต การระบาดที่อาจจะยาวขึ้นไปอีก โดยจากประสบการณ์ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา จะเห็นว่าประมาทไม่ได้ เราเคยคิดว่าควบคุมได้ แต่ก็มีระลอกใหม่มาขึ้นเลยๆ จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ปฎิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่รัฐบาลกำหนดเพื่อให้การระบาดลดลง สถานการณ์รุนแรง แต่ยืนยันยังสามารถควบคุมได้ ไม่จำเป็นต้องมีการล็อคดาวน์ ให้จังหวัดที่มีสีเขียวสามารถดำเนินเศรษฐกิจต่อไปได้