ศธ.จับมือศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด ดันนโยบาย“ปฏิรูปการพัฒนาครู” ทั้งระบบ
เร่งสร้างโมเดลคลุมหลักสูตรพัฒนาครู – ปรับวิทยฐานะ – สนับสนุนวิชาการ
ศธ. – ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด จุดประกายปฏิรูปการพัฒนาครูทั้งระบบ ชี้เป็นทางออกแก้ปัญหาการศึกษาในอาเซียนอย่างยั่งยืน กระทรวงศึกษาธิการไทยและอาเซียน พร้อมดันโมเดล Teacher Development ครอบคลุมหลักสูตรพัฒนาทักษะวิชาชีพครู การปรับวิทยฐานะ และการสนับสนุนด้านวิชาการให้ครูพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องที่ไปในทิศทางเดียวกัน ยกความสำเร็จโครงการ Chevron Enjoy Science เป็นแบบอย่างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการศึกษา
องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการประเทศสมาชิกซีมีโอ รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการไทย เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม SEAMEO Congress 2021 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมในยุคดิจิทัล โดยมีผู้แทนภาครัฐ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้แทนสถาบันการศึกษา เข้าร่วมประชุมกว่า 9,500 คน จาก 11 ประเทศสมาชิกซีมีโอ หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการ “ปฏิรูปการพัฒนาครู” เพื่อยกระดับการศึกษาอาเซียน นำสู่การเสวนาต่อเนื่องในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ Chevron – SEAMEO Policy Advocacy for Strengthening Regional STEM Education Project เพื่อสังเคราะห์แนวทางขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษา สร้างโมเดล Teacher Development ที่ขับเคลื่อนทิศทางเดียวกันทั้งระบบ คือ หลักสูตรพัฒนาทักษะวิชาชีพครู แนวทางการปรับวิทยฐานะ และการสนับสนุนด้านวิชาการ
ดร. สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Chevron – SEAMEO Policy Advocacy for Strengthening Regional STEM Education Project ว่า นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งด้านองค์ความรู้และกำลังคนเพื่อก้าวข้ามวิกฤตด้านการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า เนื่องจากการพัฒนาการศึกษาต้องมุ่งเน้นการพัฒนาครูและสนับสนุนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องแก่ครูและผู้นำโรงเรียนอย่างเหมาะสม ดังนั้นเราต้องมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอโดยเฉพาะหลักฐานงานวิจัยเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาได้ใช้ประโยชน์ผลักดันในเชิงนโยบาย อีกทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสะเต็มศึกษาในโรงเรียน
การประชุมครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องจะได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน ซึ่งศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาครูเชิงนโยบายนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอน เพื่อให้ครูมีแรงบันดาลใจและสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความพร้อมด้านทักษะแห่งศตวรรษที่ 21และทักษะการทำงานของโลกอนาคต
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่พิจารณาในเวทีนี้ คือ กระบวนการออกแบบเชิงนโยบายด้านสะเต็มศึกษา เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้านการศึกษาอาเซียนโดยกระบวนการที่ศูนย์ฯ เร่งนำเสนอ คือโมเดล Teacher Development ที่มีความสำเร็จจากโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งครอบคลุมทั้งระบบของการพัฒนาคือ
- การร่วมมือกับสถาบันผลิตครูและเครือข่ายครูที่มีประสบการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรที่จะเข้าสู่วิชาชีพครู หรือ ครูฝึกสอน และพัฒนาศักยภาพครูประจำการในลักษณะหลักสูตรประกาศนียบัตรแบบ non-degree ที่เก็บสะสมหน่วยกิตได้ เน้นลงมือปฏิบัติจริง มีการโค้ชชิ่งและแลกเปลี่ยนสะท้อนผล
- สนับสนุนให้ครูร่วมกันปรับวิธีจัดการเรียนการสอน ด้วยกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ที่สอดคล้องแนวทางประเมินวิทยฐานะครู อันมีงานวิจัยทั่วโลกสนับสนุนว่าส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน อีกทั้งผู้นำการศึกษาขานรับในทิศทางเดียวกัน ว่าเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศสมาชิกอาเซียน
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้สนับสนุนเวทีปฏิบัติการนี้ และเป็นภาคเอกชนที่ริเริ่มโครงการด้านการพัฒนาสะเต็มศึกษามา กว่า 6 ปี กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เข้าสู่ระยะที่สองและประสบความสำเร็จในการทำโมเดลเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษาที่ครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาให้กับกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ล่าสุดได้ขยายความร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาค จัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตร 1 ปีให้แก่ครูประจำการ
“หลักสูตรการอบรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ รัฐ และเครือข่าย Master Teacher โดยเชฟรอนฯ ให้การสนับสนุนทุนจำนวนร้อยละ 70 ให้แก่ครูที่เข้าอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ตลอดจนเตรียมนำ Best Practice ในโครงการฯ ไปถ่ายทอดยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่เชฟรอนฯ ดำเนินงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงจัง” นายอาทิตย์ กล่าว