ยืนยัน ไทยพบโควิดสายพันธุ์อินเดีย
ศบค.ยอมรับ ไทยพบโควิดสายพันธุ์อินเดีย สธ.สั่งจับตาการกลายพันธุ์
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 วันจันทร์ที่ 10 พ.ค. 2564 ติดเชื้อใหม่ 1,630 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 85,005 ราย เสียชีวิต 22 ราย เสียชีวิตสะสม 421 ราย
สถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 158,963,126 ราย เพิ่มขึ้น 649,149 ราย เสียชีวิต 3,306,612 ราย เพิ่มขึ้น 10,206 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา 33,476,781 ราย 2. อินเดีย 22,662,410 ราย 3. บราซิล 15,184,790 ราย 4. ฝรั่งเศส 5,777,087 ราย 5. ตุรกี 5,031,331 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงว่า 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีการรายงานการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายมากถึง 104 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 10 พ.ค.สามารถจับกุมได้ 1,126 ราย ไม่ว่าจะเป็น ทางพรมแดนประเทศลาว กัมพูชา เมียนมาร์ มาเลเซีย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำงานอย่างหนัก ในการลาดตระเวนจับกุมผู้กระทำความผิด
ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก จึงเน้นย้ำฝ่ายปกครอง ให้มีการกำกับติดตามป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเน้นการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความเข้มข้นเป็นพิเศษ และขอความร่วมมือคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศที่ต้องการกลับเข้ามาให้เข้าสู่ระบบตามมาตรฐาน นอกจากนี้ยังขอให้ประชาชนผู้นำชุมชนสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนท้องถิ่น ช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นการขนส่งแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังเตรียมความพร้อมในการจัดสรรวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าเหล่านี้ด้วย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ได้รายงานถึงผู้ที่เดินทางมาจากประเทศปากีสถาน พบการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียรายแรกของประเทศไทย โดยเป็นหญิงไทย อายุ 42 ปี ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ เดินทางมาถึงไทยตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. พร้อมบุตรชาย 3 คน อายุ 4 ปี 6 และ 8 ปี
“เมื่อถึงประเทศไทยได้รับการจัดสรรให้อยู่ใน State Quarantine ร่วมกับบุตรชายอายุ 4 ปีและ 6 ปี ส่วนบุตรชายอีกคนที่มีอายุ 8 ปี ไปอยู่อีกหนึ่งห้อง”
วันที่ 26 เม.ย.พบผลตรวจเป็นบวก ร่วมกับบุตรชายอายุ 4 ปี ส่วนอีก 2 คนผลตรวจเป็นลบ
วันที่ 9 พ.ค. ตรวจพบยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุมของกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นห่วงสถานการณ์การกลายพันธุ์ ทั้งที่มีการกลายพันธุ์แล้วและอาจจะมีการกลายพันธุ์ในประเทศไทยด้วย จึงได้กำชับให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ร่วมทำงานกับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย กรมควบคุมโรค และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังการกลายพันธุ์ขั้นสูงสุด
พญ.อภิสมัย ยังกล่าวถึงผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเมื่อกักตัวครบ 10 วันจะได้รับการปล่อยตัวออกจากสถานพยาบาลนั้นว่า ในช่วงเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.ที่ผ่านมา ค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องของการจัดการเตียง ทำให้กรมการแพทย์ ต้องขอความร่วมมือให้ประชาชนที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ให้กลับบ้านหลังจากอยู่ในโรงพยาบาลได้อย่างน้อย 10 วัน แต่ไม่ได้หมายความว่าหายป่วยแล้ว เพราะการพบเชื้อสามารถตรวจเจอได้ถึงวันที่ 21 ดังนั้น เมื่อกลับบ้านแล้ว ขอให้แยกกักตัวอยู่บ้านต่ออีก 14 วัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่แพร่เชื้อ