‘มินอ่องหล่าย’ จ่อร่วมประชุมอาเซียน
ย่างกุ้ง – พลเอกมินอ่องหล่าย ผบ.สูงสุดของเมียนมาจะเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในสัปดาห์หน้า จากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศของไทยเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่ยึดอำนาจในการปกครองประเทศมาจากนางอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือน
การก่อรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ.ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงไปทั่วประเทศเมียนมา ทำให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิตกว่า 720 รายและมีการควบคุมตัวไว้ประมาณ 3,100 ราย ทั้งนักเคลื่อนไหว นักข่าวและผู้เห็นต่าง
ประชาคมนานามชาติประณามบรรดานายพลที่ใช้กำลังรุนแรงกับผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธ โดยประกาศมาตรการคว่ำบาตรบรรดาผู้นำทหาร ครอบครัวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ
แต่ผู้นำประเทศในอาเซียนหาทางเปิดการเจรจาพูดคุยกับเมียนมา และในวันที่ 17 เม.ย. กระทรวงต่างประเทสของไทยยทนยันว่า การประชุมของผู้นำในอาเซียนในกรุงจาการ์ตาที่จะพูดคุยเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาจะมีผบ.สูงสุดของเมียนมาเข้าร่วมด้วย
โดยคาดการณ์ว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนของผู้นำทั้ง 10 ประเทศจะจัดขึ้นเพื่อพูดคุยเรื่องวิกฤตที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารในเมียนมา ในวันที่ 24 เม.ย.ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย
คำประกาศนี้ทำให้บรรดานักเคลื่อนไหวไม่พอใจ “ #อาเซียนไม่ควรรับรองเผด็จการทหารในฐานะรัฐบาลด้วยการเชิญมินอ่องหล่ายเข้าร่วมประชุม” ไว ไว นู นักเคลื่อนไหวทวีตบนทวิตเตอร์ “เผด็จการทหารผิดทำนองคลองธรรมและผิดกฎหมาย”
ที่ผ่านมา กองทัพอ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารว่า มีการโกงการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว และไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่พรรค NLD ของนางซูจีชนะไปอย่างถล่มทลาย
โดยกองทัพระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งหลังจากนี้อีกประมาณหนึ่งปี และล่าสุดได้ขยายเวลาออกไปเป็นสองปี
แม้จะมีความรุนแรง แต่ผู้ชุมนุมยังคงออกมาเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศต่อต้านเผด็จการทหาร โดยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนางซูจีเป็นอิสระ
ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง อย่างในเมืองย่างกุ้ง ให้การสนับสนุน ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่จัดตั้งขึ้นโดยส.ส.ที่ถูกยึดอำนาจ และทำงานแบบหลบซ่อนเพื่อขัดขวางเผด็จการทหาร
รัฐบาลทหารปล่อยตัวนักโทษจากเรือนจำ 23,184 รายทั่วประเทศในวันที่ 17 เม.ย. จากการนิรโทษกรรมในโอกาสช่วงสงกรานต์ แต่เป็นผู้ที่ถูกจับกุมก่อนวันที่ 1 ก.พ. โดยในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 137 คน และจะถูกขับออกจากเมียนมา โดยกรมราชทัณฑ์ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดมากกว่านี้
จนถึงตอนนี้ มีผู้ประท้วงถูกควบคุมตัวหลังรัฐประหารไปกว่า 3,100 คน
นอกจากนี้ ทหารยังออกหมายจับเพื่อจับกุมในช่วงเวลากลางคืน ทั้งบรรดาคนมีชื่อเสียง อินฟลูเอนเซอร์ นักข่าวและนักเคลื่อนไหวที่มีผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียจำนวนมาก
บรรดาแพทย์ปฏิเสธที่จะทำงานภายใต้เผด็จการทหาร ทำให้โรงพยาบาลร้างในช่วงการระบาดของโควิด-19
จนถึงคืนวันที่ 16 เม.ย. มีผู้ถูกออกหมายจับแล้ว 460 คน