ธ.ก.ส.ยุคใหม่ หนุนทุกกลุ่มเกษตรกร อัด “ความรู้คู่ทุน”
“ผจก.คนใหม่” เผย! พันธกิจ ธ.ก.ส. หลังเยี่ยมชมกิจการ “เลี้ยงแพะ” ของชาว อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เน้นเชื่อมโยงเพื่อรุกไปข้างหน้า สร้างตลาดเครือข่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ พร้อมหนุน “ความรู้คู่ทุน” รับแนวทาง “สร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม” มุ่งดูแลและสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรและชุมชนเข้มแข็งเติบโตมีคุณภาพ
หลังเปิดตัว นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คนใหม่ ที่คาบาน่า รีสอร์ท อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 มีนาคม 2564
วันรุ่งขึ้น เขา…พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร, พนักงาน ธ.ก.ส. ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ฯ รวมถึงสื่อมวลชน ต่างเดินทางลงพื้นที่ อ.สิชล เพื่อไปเยี่ยมชมการดำเนินงานวิสาหกิจชุมกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า ตามโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทยที่ดำเนินการผลิตแพะครบวงจร
โดยมี นางจารึก เพ็ชรด้วง เป็นประธานกลุ่มฯ พร้อมทั้งคณะผู้บริหารและชาวบ้านในพื้นที่คอยให้การต้อนรับและให้ข้อมูลในโครงการฯ
ภายในพื้นที่ฯได้มีการจัดกิจกรรมออกบูธขายสินค้าของวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรย้อมผมหงอก “อาโหย๊ว”, เตาพบพลังงานชีวมวล, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว “ป้าโรส”, ชุดอุปกรณ์การให้ปุ๋ยบำรุงดิน และนวัตกรรมการจัดการและควบคุมน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร, ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ “มาดาวีฟาร์ม”, กลุ่มผ้ามัดย้อม (ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีธรรมชาติ), กลุ่มทุเรียนนอกฤดู, ผู้ประกอบการน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น, กลุ่มสวนสละและแปรรูปสระ เป็นต้น
“ผจก.ธ.ก.ส.คนใหม่” ย้ำว่า…หลายผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ของ จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นสินค้าดีและมีคุณภาพมาตรฐาน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี บางตัวได้รับการรับรองคุณภาพจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ
แม้บางตัวอาจยังขาดการออกแบบแพ็กเกจจิ้งที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง แต่ภาพรวมถือว่าสอบผ่าน จะขาดก็แต่การทำการตลาดในลักษณะการเชื่อมโยงถึงกันอย่างมีพลัง ซึ่งจุดนี้ ธ.ก.ส.พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งในพื้นที่และจากส่วนกลาง
ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.เอง ก็มีแพลตฟอร์มการขายสินค้าเกษตรออนไลน์ ในชื่อ A Farm Mart รวมถึงการจัดกิจกรรม ออกร้านขายสินค้าบริเวณด้านหน้า ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ เป็นประจำทุกเดือน เชื่อว่าจะเป็นอีกช่องทางการขายที่ช่วยเหลือเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนสามารถนำสินค้าไปจำหน่ายนอกพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
“จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ได้รับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่รุนแรงเหมือนกับหลายๆ จังหวัด ส่วนหนึ่งเพราะเป็นที่ตั้งของวัดเจดีย์และไอ้ไข่ที่มีผู้ศรัทธาเดินทางมาทำบุญและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก สร้างความคึกคักทางเศรษฐกิจได้ดีในระดับที่น่าพอใจ ตรงนี้ หากสามารถนำสินค้าในชุมชนไปเชื่อมโยงกันได้ ก็จะสร้างประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่” นายธนารัตน์ ย้ำและว่า ธ.ก.ส.พร้อมจะทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” สร้างความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับการท่องเที่ยวในชุมชน
สินค้าชุมชนของจังหวัดนครศรีธรรมราช หลายตัวมีความน่าสนใจ และหนึ่งในนั้น มีสินค้าเกษตรแนวประยุกต์ ที่ “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” ดีกรีปริญญาตรี “เศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ” ม.ธรรมศาสตร์ และปริญญาโท MBA จากสหรัฐอเมริกา อย่าง “เก้า” หรือ นายธีรวีร์ ตันติพงศ์ เจ้าของ “มาดาวีฟาร์ม”
คุณสมบัติส่วนตัวที่โดดเด่นของ “เก้า” รวมกับผลิตภัณฑ์คุณภาพที่เขามี ไม่ว่าจะเป็น…ผักปลอดภัย (ผักอินทรีย์), ไข่ไก่อารมณ์ดี, นมแพะพาสเจอร์ไรซ์, เนื้อแพะคุณภาพ, ผงเคล 100% ที่แปรรูปมาจากผักเคล (Kale) บรรจุในซอง สามรถนำไปชงหรือปรุงร่วมกับอาหาร
ทำให้ทั้ง “เก้า” และ “มาดาวีฟาร์ม” เป็นอีกจุดสนใจของ ผจก.ธ.ก.ส. ซึ่งเขาย้ำระหว่างการเยี่ยมชมบูธฯ ว่า คนหนุ่มรายนี้…จัดเป็น “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ที่มีอนาคตไกล การจับตลาดผักอินทรีย์ โดยเฉพาะผักเคลที่มีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง จากเดิมที่เคยอยู่ในระดับ 700-800 บาท/ก.ก. เมื่อสามารถผลิตได้ในประเทศไทย ราคาลดลงมาเหลือราว 400-500 บาท/ก.ก. ทำให้คนไทยสามารถซื้อหามาบริโภคได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน การแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นผงเคล นับเป็นความชาญฉลาดอย่างสูง เพราะไม่เพียงจะเก็บรักษาได้ง่ายและยาวนาน โดยคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้เท่านั้น หากยังตอบโจทย์ในการขยายตลาดออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้กว้างขึ้น เพราะไม่ติดข้อจำกัดความเป็น “พืชผักผลไม้” ที่มีอายุสั้น
ด้าน “เก้า” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า…ทุกวันนี้ เขาทำการตลาดผสมผสานระหว่าง “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” ในสัดส่วน 60 : 40 แต่ในอนาคตอันใกล้ สัดส่วนจะเปลี่ยนไปเป็น 50 : 50 และ “ออนไลน์” จะแซงหน้าตามการปรับตัวของสังคมในเวลาไม่นานนัก
สำหรับผลิตภัณฑ์ “ไข่ไก่อารมณ์ดี” ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูง และเป็น “ตัวนำร่อง” ให้กับสินค้าอื่นๆ ของ “มาดาวีฟาร์ม” เพราะทุกวันนี้…ถูกสั่งไปขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ของห้างเซ็นทรัล สาขาสุราษฎร์ธานี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กลับสู่จุดที่เป็น “ไฮไลท์” ของงานฯในวันนี้ นั่นคือ ภารกิจเยี่ยมชมการดำเนินงานวิสาหกิจชุมกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า ของ ผจก.ธ.ก.ส. และคณะฯ
ทั้งนี้ นางจารึก เพ็ชรด้วง เป็นประธานกลุ่มฯ กล่าวรายงานว่า…ปัจจุบัน กลุ่มฯมีสมาชิก 31 คน ใน 13 หมู่บ้าน ครอบคลุม 6 เขตพื้นที่ของอำเภอสิชล มีพ่อพันธุ์แพะ 20 ตัว แม่พันธุ์แพะ 850 ตัว ผลิตแพะขุนได้ปีละ 1,320 ตัว และผลิตปุ๋ยมูลแพะได้ราว 20 ตันต่อปี คิดเป็นรายได้เฉลี่ยปีละ 3.2 ล้านบาท
“ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตโควิด-19 ความต้องการของตลาดในต่างประเทศมีสูงมากกว่าผลผลิตที่มี ทุกวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น แต่เราไม่สามารถส่งออกแพะได้ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าทั้งมาเลเซียและชาติอาหรับ สร้างเงื่อนไขจนส่งออกไม่ได้ เราแก้ปัญหาดังกล่าวโดยสร้างความต้องการภายในประเทศ เชิญชวนให้คนไทยหันมาบริโภคแพะ และน่าดีใจที่วันนี้ คนพุทธเริ่มหันมาบริโภคเนื้อแพะในสัดส่วนที่สูงกว่าชาวไทยมุสลิมแล้ว” ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า ระบุและว่า
ทุกวันนี้ ทางกลุ่มฯขายแพะมีชีวิตทั้งตัว เฉลี่ยกก.ละ 70-80 บาท หนึ่งตัวมีน้ำหนักราว 30-40 ก.ก นั่นหมายความว่า…แต่ละตัวที่เป็นแพะขุน ซึ่งผลิตได้จากแม่พันธุฯปีละ 2 ครั้ง (ขายที่อายุ 6 เดือน) จะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทขึ้นไป
นอกจากขายแพะทั้งตัว (เนื้อแพะ) และขี้แพะเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักแล้ว กลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้ายังต่อยอดธุรกิจด้วยการสร้างเมนูต่างๆ จากเนิ้อแพะ ที่ไม่เพียงให้รสชาติจัดจ้านสไตล์อาหารปักษ์ใต้ หากยังมีกรรมวิธีลดความเหม็นสาปของเนื้อแพะในทุกเมนูที่ทำ จนผู้บริโภค ซึ่งในวันงานฯ ผจก.ธ.ก.ส. ได้ชิมถึงกับออกปากชม…
“หรอยจังฮู้…หรอยจังฮู้!” สร้างความอิ่มเอมใจให้กับแม่บ้านและชาวบ้านในอำเภอสิชลเป็นอย่างมาก
ทิ้งท้าย…นายธนารัตน์ ยังให้ความหวังกับเกษตรกรและวิสาหกิจกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า ในพื้นที่นี้ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ว่า…ธ.ก.ส.ในยุคของเขา จะนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับการดำเนินงานในลักษณะ “ความรู้คู่ทุน” กล่าวคือ…นอกจากการให้สินเชื่อแล้ว ยังนำองค์ความรู้ใหม่ๆ มาต่อยอดให้กับเกษตรกรและสมาชิกวิสาหกิจทุกกลุ่ม
ไม่เพียงแค่นั้น…ยังหมายรวมถึงการทำการตลาดในทุกช่องทางที่ ธ.ก.ส.และพันธมิตรเครือข่ายมี เพื่อที่สินค้าในแต่ละชุมชน จะได้มีโอกาสแนะนำตัวและวางขายในทุกช่องทางทั้งหมด โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวและที่พักอาศัยของนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ
สร้างความหวังและกำลังใจให้กับเกษตรกรไทยเป็นอย่างยิ่ง สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์นับจากนี้ ที่ ธ.ก.ส.ภายใต้การนำของ นายธนารัตน์ จะพุ่งเป้าไปยัง นโยบาย “สร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม” (Social Safety Net) ที่จะดูแลและสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรและชุมชนมีให้ความเข้มแข็งและเติบโตอย่างมีคุณภาพ