กฟผ. ผนึก 5 พันธมิตร พัฒนาโรงไฟฟ้าเสมือน
กฟผ. จับมือ 5 พันธมิตร พัฒนาระบบสัญญาและสาธิตการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ ‘โรงไฟฟ้าเสมือน’ ในประเทศไทย
เมื่อเร็วๆนี้ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด บริษัท สยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด บริษัท มิตรผลไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอ-เพาเวอร์ (ภูหลวง) จำกัด บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) วิจัย พัฒนาระบบสัญญา และสาธิตการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบโรงไฟฟ้าเสมือนในประเทศไทย เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของ ประเทศ
นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า กฟผ. ได้ศึกษาการบริหารจัดการหน่วยผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ ‘โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP)’ เพื่อลดข้อจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ขาดเสถียรภาพ โดยเทคโนโลยี ‘โรงไฟฟ้าเสมือน’ เปรียบเสมือนศูนย์ควบคุมที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน และพิจารณาสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในแต่ละประเภทให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในระบบเกิดเสถียรภาพเสมือนเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่สามารถเสริมความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าของประเทศได้
นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยสามารถเข้าแข่งขันในธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้ทัดเทียมกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ นำเอาความได้เปรียบของคุณลักษณะเฉพาะของโรงไฟฟ้ามาเติมเต็มระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศได้ใช้ไฟฟ้าที่มีต้นทุนที่เหมาะสม รวมถึงสอดรับกับนโยบายภาครัฐ ในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
โดยมีระยะเวลาวิจัยตั้งแต่ปี 2563 – 2567 แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ออกแบบโมเดลโรงไฟฟ้าเสมือน และคัดเลือกโรงไฟฟ้าที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่อง ระยะที่ 2 พัฒนาระบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และทดสอบระบบการสั่งการโรงไฟฟ้า และระยะที่ 3 ทดลองระบบการควบคุมหน่วยการผลิต และการซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่เป้าหมาย โดยใช้โรงไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นโรงไฟฟ้าหลัก คาดว่าภายในปี 2573 จะมีรูปแบบธุรกิจโรงไฟฟ้าเสมือนที่มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 400 MW เกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศไทยต่อไป