คปภ.หนุนสตาร์ทอัพแฟร์ดีลดอุบัติเหตุ
คปภ.หนุนสตาร์ทอัพ “แฟร์ดี อินชัวร์เทค” นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในวงการประกันภัย ดึง 6 บริษัทประกันและ 1 โบรกเกอร์ร่วมโครงการ “ประกันภัยรถยนต์แฟร์ดี” ผ่านเว็บไซต์แฟร์ดี คาดเบี้ยประกันปีแรกพุ่ง 50 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนบริษัทประกันลดลง อาจทำให้เบี้ยประกันถูกลง
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงแนวทางส่งเสริมสนับสนุนให้ “สตาร์ทอัพ” ที่มีคนรุ่นใหม่และเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี “อินชัวร์เทค” เข้ามาในธุรกิจประกันภัย ซึ่ง “ประกันรถยนต์แฟร์ดี” ที่บริษัท แฟร์ดี อินชัวร์เทค จำกัด ได้ดำเนินการในครั้งนี้ ถือเป็นการเชื่อมต่อความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับงานทางด้านประกันของบริษัทประกันฯ เข้ากับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี”อินชัวร์เทค” อย่างลงตัว
ทั้งนี้ การเชื้อเชิญให้คนรุ่นใหม่ที่แม้ไม่มีประสบการณ์ตรงทางด้านการประกันภัยมาก่อน ได้เข้าสู่ธุรกิจด้วยการพัฒนา”นวัตกรรมของประกันภัยรถยนต์” จึงเป็นเป็นความสำเร็จเบื้องต้น ซึ่งหากการดำเนินงานของ “ประกันรถยนต์แฟร์ดี”เป็นไปอย่างที่หลายฝ่านคาดหวัง เชื่อว่าจะมีบริษัทประกันภัยเข้าร่วมโครงการมากกว่า 6 บริษัทและ 1 โบรกเกอร์ ในเวลานี้
ด้านนายจีรพันธ์ อัศวธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า เม็ดเงินในระบบประกันวินาศภัยแต่ละปีมีมากกว่า1.2 แสนล้านบาท และกว่าครึ่งเป็นเงินจากการประกันภัยรถยนต์ ขณะที่ยอดเคลมแต่ละปีก็สูงถึงกว่า 60% ของวงเงินประกัน ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของ “ประกันรถยนต์แฟร์ดี” เชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุและลดการเคลมประกันของลูกค้า รวมถึงลดต้นทุนการดำเนินงานและค่าบริหารจัดการของบริษัทประกันภัยลงได้มาก
ขณะที่ นายธนศักดิ์ ฮุ่นตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการประเทศไทย บริษัท แฟร์ดี อินชัวร์เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่ม Vouch Insurance Group ประเทศสิงคโปร์ และเป็น “สตาร์ทอัพ” ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรายหนึ่ง กล่าวว่า แม้ผู้บริหาร ทั้งตัวเขาและเพื่อนชาวสิงคโปร์และอินเดีย เพิ่งเข้าสู่ธุรกิจประกันภัยได้เพียง 2 ปีเศษ แต่ด้วยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทำให้สามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การมองเห็นโอกาสที่จะใช้ “อินชัวร์เทค” เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทย ผ่านโครงการ “ประกันรถยนต์แฟร์ดี”บนความร่วมมือกับบริษัทกรุงเทพประกันภัย, ทิพยประกันภัย, เอ็มเอสไอจีประกันภัย, ประกันภัยไทยวิวัฒน์, ธนชาติประกันภัย และโตเกียวมารีนประกันภัยรวมถึง แม็กซี่ อินชัวร์ โบรกเบอร์ จึงน่าจะทำให้บริษัทฯสร้างยอดเบี้ยประกันผ่าน www.fairdee.com ได้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทในปีแรก
“เราไม่ใช่บริษัทประกันภัย แต่สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงานของบริษัทประกัน ซึ่งไม่เพียงลดต้นทุนการดำเนินงานให้กับบริษัทประกันภัย แต่การรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถยนต์ขับรถด้วยความไม่ประมาท แลกกับการลดเบี้ยประกันลงสูงถึง 15% สำหรับลูกค้าที่ไม่เคลม และอีก 15% กับกลุ่มเพื่อนบนเว็บไซต์แฟร์ดีอย่างน้อย 4 คนโดยที่ทุกคนในกลุ่มไม่มีการเคลมเช่นกัน ก็จะได้รับส่วนลดกลุ่มเพิ่มอีก 15% ซึ่งจุดนี้ เชื่อว่าอัตราอุบัติเหตุทางรถยนต์ในบ้านเราจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน แนวโน้มของเบี้ยประกันในบ้านเราก็จะค่อยๆ ลดลงตามไปด้วยหากไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากมายเหมือนที่เคยเป็นมา” นายธนศักดิ์ กล่าวในที่สุด.