กกร.มองศก.ไทยเริ่มฟื้น คงเป้าจีดีพีปีนี้ที่ 1.5-3.5%
กกร.เชื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว หลังผู้ติดเชื้อลดลงและมีการฉีดวัคซีน คงเป้าจีดีพีปีนี้โตที่ 1.5-3.5% ขณะที่สมาคมธนาคารไทยแจงโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ จะมีความชัดเจนใน 2เดือน
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดการประชุมประจำเดือนมี.ค. 64 โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสอท.เป็นประธาน กกร. นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นประธานร่วม
นายสุพันธุ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในกรอบ 1.5-3.5% ส่วนการส่งออกขยายตัวได้ 3-5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในกรอบ 0.8-1.0% โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันลดลงตามลำดับ และการเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ นอกจากนี้การส่งออกของไทยที่ไม่รวมทองคำปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในหลายสินค้า สะท้อนอุปสงค์ในตลาดโลกที่เติบโต
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังหลังผ่อนคลายมาตรการ 2) การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และ 3) มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมไปถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ
สำหรับตลาดการเงินของไทย เริ่มได้รับอิทธิพลจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ส่งผลให้นักลงทุนขายพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทย และทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป คือ แนวนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินทั่วโลก
ด้านนายผยง กล่าวว่าสมาคมธนาคารไทยได้จัดทำข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจของสมาคมธนาคารไทย ที่ได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง เพื่อหารือข้อเสนอมาตรการประคองและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “ปรับปรุง ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง” เพื่อมองไปข้างหน้า แก้ไขปัญหา และตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถก้าวผ่านวิกฤติ อีกทั้งยังมีเวลาที่จะให้ธุรกิจได้ปรับตัว เพื่อรองรับการเติบโตต่อไปในอนาคต
โดย – การปรับปรุง : “โครงการพักทรัพย์ พักหนี้” หรือ Ware Housing ซึ่งเป็นโครงการภาคสมัครใจ ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวอยู่รอดได้โดยให้ผู้ประกอบการสามารถลดภาระทางการเงินได้ชั่วคราว ด้วยการโอนทรัพย์ไว้กับธนาคารโดยมีสัญญาซื้อคืน เพื่อรอการฟื้นตัวของธุรกิจโดยไม่สูญเสียกิจการไป
“คาดว่าโครงการนี้จะมีความชัดเจนและออกประกาศได้ไม่เกิน 2เดือนหรือภายในเดือนเมษายนนี้ เพราะต้องการมีการแก้ไขกฎหมายบางอย่าง หรือต้องปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรการ เช่น เรื่องค่าธรรมเนียม เรื่องภาษี เรื่องการจดจำนอง”
– การฟื้นฟู : สำหรับธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัว และมีความต้องการวงเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมนั้น เป็นการเพิ่มวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการเสริมสภาพคล่อง เพื่อรองรับการกลับมาดำเนินธุรกิจแบบปกติ โดยเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงวงเงิน
– เปลี่ยนแปลง : การใช้ e-Invoicing บน Platform โดยให้มีมาตรฐานกลางทั้งในเรื่องรูปแบบของ Invoice ระยะเวลาที่เหมาะสมของ Credit Terms ซึ่งจะรวมถึงการร้องเรียน และการคืนสินทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการค้าที่โปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกราย และจะทำให้ระบบเครดิตทางการค้าเชื่อมโยงกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้
ด้านนายกลินท์ แจงว่าที่ประชุม กกร.ยังมีข้อเสนอที่สำคัญต่อภาครัฐ ได้แก่
–เสนอให้ภาครัฐเร่งเปิด Travel Bubble กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจที่มี Vaccine passport เข้ามาในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
–เสนอเร่งรัดให้ภาครัฐจัดซื้อวัคซีนให้มากขึ้นจากหลายแหล่งทั่วโลก เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนคนไทยทั้งหมด แรงงานต่างด้าว นักธุรกิจต่างประเทศที่อยู่ในไทย และให้องค์การอาหารและยา (อย.) อนุมัติวัคซีนที่มีนำเข้าแล้วให้ผ่านเกณฑ์เร็วขึ้น
–ขอให้ภาครัฐอนุญาตให้ภาคเอกชนจัดซื้อวัคซีนเอง เพื่อแบ่งเบาภาระภาครัฐและช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น จะได้ช่วยให้ประเทศฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
–ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการเร่งรัดการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค์ในการทำธุรกิจ (Regulatory Guillotine) และเร่งตั้งหน่วยงานเพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนในการแก้ไข โดยการศึกษาพบว่าถ้าประเทศไทยมีการแก้ไขได้รวดเร็ว จะช่วยให้เพิ่ม GDP ของประเทศได้อย่างมาก