คนไทยทำใจกับภาวะ “ดอกแพง-หนี้เพิ่ม”
อากัปกริยาล่าสุดที่ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาพูดในทำนอง…ส่งสัญญาณเตือนเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า มีแนวโน้มที่ ธปท.อาจปรับประมาณการณ์ตัวเลขจีดีพีใหม่อีกครั้งในเดือนหน้า
หลังจากเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้คาดการณ์จีดีพีน่าจะโตราวๆ 4.4% และมีแนวโน้มจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สศช.) ได้ออกมาปรับตัวเลขจีดีพีใหม่เป็น 4.6%
ทั้งหมดนำไปสู่แนวคิดของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั่นเอง เพราะจากท่าทีล่าสุดของผู้ว่าฯธปท.นั้น สะท้อนให้เห็นชัดว่า…เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น ธปท.จำเป็นต้องสร้างเครื่องมือในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ย จึงยังคงจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในยามนี้ ที่สำคัญ…ไทยคงไม่สามารถที่จะฝืนทิศทางดอกเบี้ยของโลกได้
” กับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นพิเศษ ก็มีความจำเป็นน้อยลง หากมีจังหวะเวลาที่เหมาะสม กนง.ก็พร้อมจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะขึ้นอยู่หลายปัจจัย เช่น เงินเฟ้อ ความเข้มแข็งของปัจจัยทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพของระบบการเงิน “
นายวิรไทย้ำว่า ปัญหาของการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์และนั่นอาจกลายเป็นจุดเปราะบางทางเศรษฐกิจของไทยได้ อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้หมายความว่าแนวโน้มดอกเบี้ยจะปรับทิศทางเป็นขาขึ้น เพราะ ธปท.จำเป็นจะต้องมีกระสุนเพียงพอในการดูเเลระบบเศรษฐกิจ
ส่วนผลกระทบจากวิกฤติค่าเงินตุรกีอ่อนค่านั้น เขาเชื่อว่า น่าจะมีผลกระทบอย่างจำกัดเนื่องจากปริมาณการทำธุรกรรมระหว่างไทยกับตุรกีมีน้อย ขณะที่ฐานะทางการเงิน หรือทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยก็ความเข้มแข็ง จนไม่น่าจะเป็นห่วงเมื่อเทียบกีบอีกหลายๆ ประเทศในตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน อีกทั้งช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทก็ไม่ได้ผันผวนสูง กระนั้น ผู้ว่าฯธปท.ยังอดเตือนภาคเอกชนไม่ได้ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ภาคเอกชนจึงควรเตรียมรับมือ โดยธปท.เองก็มีมาตรการส่งเสริมหลายรูปแบบ
โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่นทำการค้าระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการค้ากับประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น รวมถึงอาเซียนมีมากกว่าร้อยละ 50 ขณะที่การค้ากับสหรัฐฯมีเพียงร้อยละ 9 แต่กลับมีการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯในการทำธุรกรรมการค้าถึง 80% ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็นที่เอกชนต้องเเลกเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐฯในการชำระค่าสินค้า
” ภาคเอกชนควรเลือกสกุลเงินให้เหมาะสมกับคู่ค้าเเละธุรกิจ ซึ่ง ธปท. เอง ก็สร้างความร่วมมือทางการเงินกับอินโดนีเซียและมาเลเซียในการใช้สกุลเงินท้องถิ่น อีกทั้งยังส่งเสริมการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง ระหว่าง”บาท-เยน” และ “บาท-หยวน” ซึ่งเชื่อว่าจากนี้ไปการใช้เงินสกุลเงินท้องถิ่นจะได้รับความนิยมมากขึ้น ” นายวิรไทระบุในตอนท้าย
ถึงตรงนี้ แนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นจากระดับเดิมที่ 1.5% ไปสู่ระดับสูงสุดที่ 2.0% ภายในสิ้นปีนี้ ก็อาจมีให้เห็น และนั่น ย่อมต้องส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ที่ทุกแห่งล้วนอัดอั้นและพร้อมจะขยับขึ้นดอกเบี้ยทุกตัว โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ รอเพียงสัญญาณและท่าทีที่ชัดเจนของธปท.และกนง.เท่านั้น
แน่นอนว่า…คนไทย ผู้เป็นลูกหนี้เงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ จะไม่ว่าเป็นลูกหนี้เงินกู้ในมิติใด ย่อมต้องได้รับผลสะเทือนนี้ไปเต็มๆ ฉะนั้น ได้โปรดเตรียมตัวและทำใจ เดินเข้าสู่โหมดเศรษฐกิจในภาวะ “จีดีพีโต อัตราดอกเบี้ยสูง” กันได้เลย
รอบนี้จะดีหน่อยก็เฉพาะกับเศรษฐีเงินฝาก ระดับ 8-9 หลักขึ้นไป ที่จู่ๆ รายได้หรือกำไรจากดอกเบี้ยฝากก็ขยับพุ่งขึ้นมาเฉยเลย แต่นั่นก็คนส่วนน้อยของไทย
ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่คงต้องก้มหน้ารับสภาวะ “ดอกเบี้ยแพง หนี้สินเพิ่ม ค่าแรงถูก ค่าครองชีพสูง” อย่างไม่ต้องสงสัย?.