บอร์ด คปภ.ไฟเขียว! ม.ขยายโอกาสลงทุนของประกันภัย
บอร์ด คปภ. เห็นชอบมาตรการขยายโอกาสการลงทุนในบริษัทประกันภัย สู้ภาวะเศรษฐกิจซบ จากพิษภัยโควิดและอัตราดอกเบี้ยต่ำ ด้าน “สุทธิพล ทวีชัยการ” ยืนยัน! ส่งผลดีต่อภาพรวมอุตฯประกันภัยไทย ย้ำ! พร้อมเกาะติดการลงทุนตามมาตรการนี้อย่างใกล้ชิด
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวถึง การประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่มี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมฯมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบริษัทประกันภัย เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการลงทุน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยสามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น ภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว และยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในหลายปัจจัย และภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
โดยได้เห็นชอบ ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 5) และ ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดประเภท และชนิดของเงินกองทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณเงินกองทุนของบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) ก่อนนำเสนอ ประธานบอร์ด คปภ. เพื่อพิจารณาลงนามต่อไป ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
ประการแรก : เปิดช่องทางการลงทุนใหม่ที่ให้บริษัทสามารถลงทุนในกองทุนรวมทั้งในและต่างประเทศที่มีองค์ประกอบเป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-Investment Grade) ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนสุทธิ (NAV) ของกองทุนนั้น และปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนตรงในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้หรือตราสารหนี้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade ที่เดิมต้องจำหน่ายในโอกาสแรก ที่กระทำได้ แต่เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นภายใต้สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงอนุญาตให้บริษัทประกันภัยสามารถถือครองตราสารดังกล่าวต่อไปได้ ซึ่งการลงทุนทั้งทางตรงและผ่านกองทุนรวมข้างต้น เมื่อนำไปนับรวมกับสินทรัพย์ลงทุนอื่น ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของสินทรัพย์ลงทุนของแต่ละบริษัท
ประการที่สอง : ปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง โดยปรับปรุงค่าความเสี่ยง ด้าน Specific Risk จากเดิมที่สูงมากให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะการณ์ปัจจุบันเพื่อให้เงินกองทุนของบริษัทสะท้อนความเสี่ยงของตราสารหนี้ที่บริษัทถือครองอยู่ ในกรณีที่การลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทเป็นไปตามประกาศว่าด้วยการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย สำหรับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และปรับปรุงวิธีพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ที่ออกในต่างประเทศโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียน ในประเทศไทย ในการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) โดยให้ใช้อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในประเทศไทย (Local Issuer Rating) ได้โดยอนุโลม
ประการที่สาม : ปรับปรุงวิธีพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ที่ออกในต่างประเทศโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ในการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยด้านปัจจัยเฉพาะของผู้ออกตราสาร (Specific Risk) โดยให้ใช้อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในประเทศไทย (Local Issuer Rating) ได้โดยอนุโลม และผ่อนปรนค่าความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Equity Fund) ที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนที่อยู่ในดัชนีหลักทรัพย์ของกลุ่มประเทศ developed market ตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป โดยให้บริษัทสามารถคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านตลาด จากราคาหน่วยลงทุนโดยวิธีการ look through ตามหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือคำนวณโดยใช้ค่าความเสี่ยงที่ร้อยละ 25 คูณกับมูลค่าหน่วยลงทุน (Net Asset Value : NAV) ทั้งจำนวน ซึ่งเมื่อเลือกใช้วิธีใดแล้วให้ใช้วิธีนั้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ อันเป็นการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตและลดความเสี่ยงเชิงระบบ โดยมาตรการนี้ให้มีผลบังคับชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี
“การปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เปรียบเสมือนการให้วิตามินเสริมศักยภาพ และ ความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจประกันภัยในการเพิ่มโอกาสให้สามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพื่อสู้กับปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่ภาคธุรกิจประกันภัยมีหนังสือขอเข้ามา โดยคณะกรรมการ คปภ. พิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าการปรับปรุงดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในภาพรวม ทั้งน่าจะเกิดผลดีต่อภาคธุรกิจประกันภัย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะได้ช่วยเหลือติดตามการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนอย่างใกล้ชิดต่อไป” เลขาธิการ คปภ. ย้ำ.