“มงคล ลีลาธรรม” แนะใช้เทคโนโลยีปั้นรายได้สู่ร้อยล้าน
หากจะเอ่ยถึงผู้ที่คร่ำหวอด และคุ้นเคยกับผู้ประกอบการที่เรียกตนเองว่าเป็นคนตัวเล็ก หรือเอสเอ็มอี (SMEs) เป็นอย่างดี คงจะต้องมีชื่อของ “มงคล ลีลาธรรม” อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ซึ่งปัจจุบันเข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ติดอยู่ในโผอย่างไม่ต้องสงสัย
และถ้าจะให้บุคคลที่แนะนำช่องทางการทำตลาดให้กับเอสเอ็มอีได้ดี มงคล ผู้ชายหน้าตา และท่าทางใจดีก็คงจะทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีที่สุด คอลัมภ์ “Startup” ครั้งนี้จึงถือโอกาสพุดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ มงคล เพื่อนำเสนอมุมมอง และแนวความคิดมาให้เลือกนำไปปรับใช้กันกับการดำเนินธุรกิจ
อยู่ให้รอด อยู่ให้เป็น อยู่ให้ยาว
มงคล เกริ่นนำอย่างน่าสนใจว่า ก่อนที่จะคิดถึงการทำธุรกิจให้มีรายได้หลัก 100 ล้านบาท ก่อนอื่นเลยในสถานการณ์แบบนี้ที่ยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ โดยเป็นสถานการณ์ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ แม้ว่าเวลานี้จะมีวัคซีน แต่ก็ยังต้องรอผล และต้องใช้อีกระยะเวลาหนึ่งกว่าจะสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าภายใน 2 ปีถัดจากนี้ไปก็ยังไม่รู้เลยว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่
ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึง 3 แนวทาง ได้แก่ ทำอย่างไรให้อยู่รอด อยู่ให้เป็น และอยู่ให้ได้ยาวในสถานการณ์ที่ยังไม่รู้จุดสิ้นสุด
ทำอย่างไรให้อยู่รอดนั้น ในความหมายก็คือ ปัจจุบันผู้ประกอบการต่างก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้รายได้หายไปแบบทันทีทันใด โดยปัญหาที่เกิดขึ้นตามก็คือ เรื่องของสภาพคล่องทางการเงิน เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเร่งดำเนินการเข้าหาสถาบันการเงิน เพื่อขอรับมาตรการในการช่วยเหลือที่รัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“ผู้ประกอบการต้องสำรวจตนเองว่ามีสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงินใด เป็นหนี้สถานะไหน หลังจากนั้นยืนยันแสดงตัวตนกับสถาบันการเงิน เพื่อขอรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการขอผ่อนชำระเฉพาะเงินต้น หรือพักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อทำให้ธุรกิจยังสามารถเดินต่อไปได้”
นอกจากนี้ ก็จะต้องมาสำรวจดูว่ารายได้เหลืออยู่เท่าไหร่ เพื่อนำมาปรับรายจ่ายให้มีความสอดคล้องกันไปด้วย โดยผู้ประกอบการหลายรายที่ทำกิจการหลายสาขา หรือทำหลายอย่าง ก็ต้องมาทบทวนดูว่าอะไรที่ไม่มีกำไร หรืออะไรที่ถูกกระทบมากที่สุดก็อาจะต้องเลิกไป เรื่องดังกล่าวนี้ต้องตัดสินใจให้ไว และปรับตัวให้เร็ว
บันได 5 ขั้นสู่ความสำเร็จ
อยู่ให้เป็น ในความหมายของข้อนี้ต้องการให้ผู้ประกอบการมีบันได 5 ขั้น โดยในสถานการณ์ปัจจุบันต้องใช้หลักที่เรียกว่า อิทธิบาท4 คือ วิมังสา ซึ่งต้องมาสังเกตดูว่า ช่วงที่ยังมีโควิด-19 ธุรกิจอะไรที่ยังสามารถไปได้ โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยนั่นก็คือตลาดภายในประเทศ เนื่องจากผู้ซื้อในประเทศจำนวนไม่น้อยยังคงมีอำนาจในการใช้จ่ายอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องสร้างความพร้อมเข้าสู่พฤติกรรมใหม่ (New Normal) ของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เห็นว่ายังมีการใช้จ่ายอยู่ ยังมีการค้าการขาย หรือมีธุรกรรมอยู่ก็ควรถือโอกาสนี้เข้าสู่กลุ่มนี้เลยทันที
หลังจากนั้น ก็มาใช้บันไดอีก 4 ขั้นที่เหลือ ประกอบด้วย ความสามารถในการแข่งขัน ก็คือ การสร้างความแตกต่างที่โดดเด่น หลายคนต้องเลิกทำงานประจำ และหันมาทำอาชีพค้าขาย โดยนำสูตรจากบรรพบุรุษมาปรับใช้จนได้สูตรอาหารรสชาติดี พร้อมขาย ขั้นตอนต่อไปก็คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งจะเข้าไปสู่เทคโนโลยี หรือดิจิทัลที่เรียกว่า อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) หรืออีมาร์เก็ตเพลส (E-Marketplace) โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน
“ปัจจุบันก็จะเห็นแล้วว่าพลังของการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์สามารถทำให้ธุรกิจอยู่รอด และเพิ่มยอดการขายได้อย่างต่อเนื่อง โดยเกิดขึ้นมาจากสังคมออนไลน์ หากผู้ประกอบการสามารถปรับเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ หรืออีมาร์เก็ตเพลสได้ก็เชื่อว่าธุรกิจมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้”
ขณะที่ทางฝั่งสถาบันการเงินเองก็มีการรองรับด้วยระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล (E-Payment) โดยไม่มีการคิดค่าบริการ ด้านรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง รวมไปถึงระบบขนส่งที่มีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก ด้วยราคาค่าบริการที่ผู้บริโภครับได้
อย่างไรก็ดี การบอกเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ก็จะยิ่งช่วยสร้างความโดดเด่น และความแตกต่าง การออกแบบหรือดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้ดีก็ยิ่งช่วยส่งแสริมให้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นทางการตลาด การตั้งราคาขายให้เหมาะสม และการมีใบรับรอง ที่สำคัญยิ่งลูกค้ามีการแนะนำต่อๆกันไป ก็จะเกิดการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“โมเดิร์น สตอรี่ ดีไซน์ เซอติฟาย และออนไลน์ คือบันได 5 ขั้นสร้างความพร้อมเข้าสู่พฤติกรรมใหม่ของลูกค้า โดยใช้เทคโนโลยีและดิจิตอลในการนำไปสู่เรื่องนี้อย่างจริงจัง หลายคนเปลี่ยนได้เร็วก็อยู่ได้ และอยู่เป็นในสถานการณ์นี้ และไม่ได้รับผลกนระทบจากการควบคุมพื้นที่ หรือระยะทาง เพราะไม่รู้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19เกิดขึ้นครั้งที่ 3 หรือ 4 อีกไหม”
รายได้ร้อยล้านยังสามารถทำได้
มงคล ยืนยันว่า การสร้างยอดขายให้ได้ถึงหลัก 100 ล้านบาทยังสามารถทำได้อย่างแน่นอน โดยต้องยอมรับอย่างไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดหลายธุรกิจไม่ได้ถดถอยลง เพียงแต่ต้องเลือกช่องทางการทำตลาดให้ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันกระแสของสังคมผู้สูงอายุกำลังเป็นแนวโน้มทางการตลาดที่ยังสามารถเข้าไปทำตลาดได้อีกมาก รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันหหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น
“ยกตัวอย่างผู้ประกอบการรายหนึ่ง ทำธุรกิจเกี่ยวกับการปลูกผักขาย เวลานี้บริษัทที่ปลูกผักขายดังกล่าวถูกประเมินมูลค่าทางการตลาดได้ถึง 100 ล้านบาท และยังสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยต้องบอกว่าไม่ใช่ง่ายและไม่ใช่ยาก และสามารถนำส่งสินค้าที่เรียกว่าผักอนามัย ผักปลอดสารพิษ หรือที่เรียกว่าอาหารสุขภาพเหล่านี้ไปสู่บ้านเรือนของผู้บริโภค”
มีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น และใช้การตลาดดีไซน์สมัยใหม่ขายออนไลน์ เช่นตะกร้าหวาย ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่เสื้อผ้าที่เป็นไทยมากขึ้น แม้จะไม่มีการส่งเสริมเลยของรัฐ และมีรสนิยมที่จะใส่ เรียกว่าเฟอร์นิเจอร์ที่จะใส่ข้างตัวก็ต้องสอดคล้องไปด้วย หลายคนคิดถึงวัยเด็กติดตามพ่อแม่ไปตามงานวัด เดี๋ยวนี้ตะกร้าหรือหวายที่ใช้แทนพาหนะเหล่านี้ก็ใช้ได้ และธุรกิจหลายอันชุมชนเหล่านี้ก็สามารถขายหลักล้านได้ สามารถเติบโตได้จากปัจจัยใกล้ตัว รอบตัว