ผลสะท้อนจากปมTMB ขายทิ้งธุรกิจลูก?
ผลพวงจาก Digital Technology ที่รุกคืบในเชิง Disruptive Technology ส่งผลให้หลายธุรกิจที่ไม่ปรับตัว หรือปรับตัวไม่ทัน พลอยได้รับผลกระทบตามมา ทว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับโชคชะตาด้วยว่า…ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการเหล่านั้น โดน Disruptive Technology จัดอยู่ในกลุ่มใด?
สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มประกันภัย ที่ทั้งคู่ต่างได้ชื่อว่าเป็นสายงานแขนงหนึ่งในกลุ่มธุรกิจการเงิน และบางคู่ถือหุ้นไขว้กันในลักษณะ เจ้าของ/ผู้ก่อตั้งแบงก์ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารพาณิชย์แห่งนั้น เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในบริษัทประกันกันภัย
แน่นอนว่า…ทั้งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มประกันภัย ต่างก็ต้องผจญกับสภาวะ ถูก Disruptive Technology และทั้ง 2 ธุรกิจ จำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน และนำสิ่งที่เรียกว่า Financial Technology (Fintech) มาใช้กับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และ Insurance Technology (Insurtech) มาใช้กับองค์กรและกอจการของตัวเอง
หรือไม่…ก็ตัดทิ้งไขมันส่วนเกิน โดยเฉพาะในสายงานส่วนที่ตัวเองไม่ถนัด และจำต้องพึ่งพามืออาชีพในสายงานนั้นๆ มากเกินไป
บ้างก็ด้วยเหตุผล…ต้องการสร้างตัวเลขผลการดำเนินงาน และ/หรือ ผลกำไรโชว์ “ผู้ถือหุ้น” ในช่วงเวลาที่เหลือหลังจากนี้
กรณีที่เกิดกระแสข่าวที่หลุดออกมาถึงหูผู้สื่อข่าวสายตลาดหลักทรัพย์ นับแต่เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทั่ง มีการสอบทานผู้สือ่ข่าวสายธนาคารพาณิชย์ ตลอดช่วงเย็นยันดึกของคืนเดียวกันนั้น
กระทั่ง ทุกอย่างมาชัดเจน เมื่อวันรุ่งขึ้น กับประเด็นใหญ่ในแวดวงธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และประกันภัย นั่นคือ การณีที่ ธนาคารทหารไทย (TMB) ทำการเทขายทิ้งหุ้น บลจ. ทหารไทย สูงถึง 65% ให้กับ “กลุ่มอีสท์สปริง” ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ซึ่งอยู่ในเครือพรูเดนเชียล ยักษ์ใหญ่ของวงกสรธุรกิจประกันภัยระดับโลก
หลายคนตั้งคำถาม? เกิดอะไรขึ้นกับ TMB และ บลจ. ทหารไทย??!!
เรื่องนี้…มีคำตอบจาก นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB ที่ออกมาบอกว่า…TMB เล็งเห็นว่า การจับมือเป็นพันธมิตรกับอีสท์สปริงจะส่งผลดีต่อลูกค้าของ บลจ. ทหารไทย และทีเอ็มบี โดยรวม เนื่องจากอีสท์สปริงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสินทรัพย์ในระดับโลกในหลายมิติของการลงทุน มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการมูลค่ารวมกว่า 188 พันล้านเหรียญสหรัฐ ให้บริการทั้งลูกค้าสถาบันและลูกค้าบุคคล จากสำนักงาน 10 แห่งในเอเชีย และยังมีสำนักงานที่ลักเซมเบิร์ก ลอนดอน และชิคาโก ซึ่งให้บริการลูกค้าในระดับนานาชาติอีกด้วย
ทั้งนี้ TMB เชื่อมั่นว่า อีสท์สปริงจะนำความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาเสริมศักยภาพของ บลจ. ทหารไทย และนอกจากนี้การเข้ามาเป็นพันธมิตรของอีสท์สปริง ยังเป็นการสนับสนุนกลยุทธ์การให้บริการด้านกองทุนรวมแบบ TMB Open Architecture
โดยให้ลูกค้าได้มีโอกาสมากขึ้นในการได้รับบริการทางด้านการลงทุนในระดับโลก
รวมถึงการเข้าถึงกองทุนรวมชั้นนำจากต่างประเทศที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ลูกค้า “ได้มากกว่า” จากการใช้บริการของเรา ซึ่ง TMB Open Architecture ดำเนินการมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว และได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นกลยุทธ์การให้บริการที่ทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง จากการเปิดกว้างทางเลือกในการลงทุนเพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสรับผลตอบแทนที่มากกว่า จากผลิตภัณฑ์กองทุนรวมคุณภาพที่คัดสรรมาแล้วเพื่อลูกค้าทุกกลุ่ม
นายปิติกล่าวอีกว่า บลจ. ทหารไทย จะยังคงบริหารงานโดยผู้บริหารชุดเดิมซึ่งมี ดร.สมจินต์ ศรไพศาล เป็นกรรมการผู้จัดการ ต่อไป อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญจากอีสท์สปริง เข้ามาช่วยเติมเต็มศักยภาพ โดยกองทุนรวมของบลจ.ทหารไทยที่ลูกค้าถืออยู่จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ลูกค้าจะได้รับประโยชน์และโอกาสสร้างผลตอบแทนมากขึ้นจากความเชี่ยวชาญของอีสท์สปริงซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งให้ บลจ. ทหารไทย ให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในเรื่องของความรู้ความชำนาญและเครือข่ายที่มีอยู่ในระดับโลก
อนึ่ง TMB เป็นแกนหลักในการร่วมก่อตั้ง บลจ. ทหารไทย เมื่อปี 2539 โดยในปัจจุบัน เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทและในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา บลจ. ทหารไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีและมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีสูงถึง 26%
ถึงตรงนี้ คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า…ดีลที่ TMB เทขาย บลจ.ทหารไทยให้กับบริษัทในเครือของพรูเดนเชียล จะสามารถต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนและผู้ถือหุ้นได้ดีขนาดไหน?
ที่สำคัญนอกจากกลุ่ม TMB แล้ว ยังจะมีธนาคารพาณิชย์แห่งใด? ขายทิ้งบริษัทในเครือ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย หรือธุรกิจอื่นๆ เพื่อตัดทิ้ง “ไขมันส่วนเกิน” หรือไม่? อย่างไร?
เวลาจะเป็นคำตอบของเรื่องนี้เอง!!!.