ในหลวง ร.10 โปรดเกล้าฯ ให้เยาวชนรับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดี ปี 2563
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ออกรับคณะกรรมการอำนวยการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. และคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดย รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ นำ 44 เยาวชนนิสิตนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ที่มีผลการเรียนดีจากทั่วประเทศ เข้ารับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดี และนักวิชาการผู้ได้รับรางวัลการประกวดตำราดีเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ ประจำปี 2563 รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า วิศวกรรมเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้า พัฒนาสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดระยะเวลากว่า 77 ปี ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพและเสาหลักทางด้านวิศวกรรมที่มีเครือข่ายใหญ่สุดของประเทศไทย มีภารกิจพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ จัดฝึกอบรม จัดทำมาตรฐานวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมของประเทศ ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือสังคมทั้งในยามปกติสุขและวิกฤติฉุกเฉิน วสท.ได้ก่อตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มาเป็นเวลา 41 ปี โดยดำเนินงานสร้างประโยชน์ต่อการศึกษาของเยาวชนและการวิจัย ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในปี 2563 นี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้นำนิสิตนักศึกษาเรียนดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 44 คน ซึ่งเป็นผู้ประพฤติดี เรียนดี ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ และนักวิชาการผู้ได้รับรางวัลการประกวดตำราดีเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ รศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าเฝ้าฯ รับโล่พระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 10
ชนิกานต์ แก้วทอง สาวน้อยจากหาดใหญ่หัวใจไอที วัย 24 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติแก่ชีวิตและครอบครัวที่ได้รับรางวัลพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยเฉพาะคุณปู่ที่ภาคภูมิใจเป็นพิเศษ ท่านบอกว่าสะท้อนให้เห็นถึงความพยายาม ตั้งใจทุ่มเทในการเรียน และการจัดสรรเวลา ส่วนเคล็ดลับเทคนิคในการเรียนดี คือ ตั้งใจเรียนสม่ำเสมอ ไม่เข้าใจต้องถาม ทำคะแนนเก็บและส่งงานให้ครบ ในเวลาว่างจะรับงานสอนพิเศษวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ให้นักเรียนชั้นมัธยมด้วยค่ะ เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์และแบ่งปันความรู้ นอกจากนี้ ยังต้องเสริมคุณภาพชีวิตวัยเรียนด้วย เช่น ทำอาหารทานเอง เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ในปีที่ 4 ของชีวิตในมหาวิทยาลัยเลือกฝึกงานที่บริษัทเอกชน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล (Aimagin Analytic) และฮาร์ดแวร์ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) ซึ่งเราได้มีส่วนร่วมในการออกแบบปรับปรุงหน้าตาของซอฟต์แวร์ให้ดูสวยงาม ใช้งานง่าย และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ในอนาคตอยากจะศึกษาต่อระดับปริญญาโทควบคู่กับทำงานด้านไอทีค่ะ ส่วนตัวแล้วสนใจทางด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และ Machine Learning สำหรับทำสมาร์ทฟาร์ม เพราะจะช่วยเสริมความก้าวหน้าเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรมบ้านเรา โดยช่วยวิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูลทางการเกษตร ลดความเสียหาย ลดการใช้สารเคมี เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและผลกำไรมากขึ้นค่ะ
ปณิดา เซ็น (ไกว่ไกว๊) สาวน้อยวัย 21 ปี นักศึกษาปีที่ 4คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปลื้มปิติอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนคณะวิศวะมหิดลเข้ารับเหรียญรางวัลพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้มีกำลังใจและมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ทำสิ่งดีๆ เพื่อตอบแทนสังคมประเทศต่อไป ดังแนวทางของพระองค์ที่ส่งเสริมจิตอาสา ส่วนเคล็ดลับการเรียนที่ดี คือ เรียนด้วยความอยากเรียนรู้ สิ่งสำคัญต้องมีความสุข ให้ความสำคัญกับการเรียนเป็นอันดับแรก แต่ก็ต้องไม่เครียดจนเกินไป จัดเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ และเข้าสังคมด้วยจะทำให้เรามีทักษะชีวิตที่รอบด้าน ปัจจุบันทำวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมอุปกรณ์ถนอมหัวใจขณะรอการปลูกถ่าย (Perfusion Machine) ร่วมกับทีมวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.มหิดล ซึ่งเป็นเครื่องเก็บรักษาหัวใจที่ดีกว่าการเก็บรักษาด้วยน้ำแข็ง ทำให้สามารถเก็บรักษาหัวใจได้นานขึ้น จากเดิม 4 ชั่วโมงเป็น 12 ชั่วโมง ในฐานะคนรุ่นใหม่อยากเห็นทั้งประเทศเติบโตก้าวเดินไปพร้อมกัน ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียวค่ะ ในอนาคตไกว่ไกว๊ฝันอยากจะเปิดบริษัทเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เพื่อผลิตนวัตกรรมช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดปัญหาขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ตามโรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัด ซึ่งต้องส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใหญ่ เกิดความแออัดและเสียโอกาสในการรักษา นอกจากนี้จะช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ซึ่งมีราคาแพง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง อุปกรณ์การแพทย์ของไทยต้องส่งออกไปตรวจสอบและขอการรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศก่อน ทำให้ยากที่จะแข่งขันกับผู้นำตลาดได้ คิดว่าหากเราสนับสนุนทางด้านมาตรฐานรับรองสากลภายในประเทศ จะทำให้อุปกรณ์การแพทย์มีราคาถูกลง ยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขของคนไทยให้ดีขึ้น