“CIMBT”คาดจีดีพีปีนี้ โต 3.7% จากเดิม 4%
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ ต้องเผชิญกับภัยสงครามทั้งจากภายในและภายนอก จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจากเดิม 4% ลงเหลือ 3.7%
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี2561 มาที่ 3.7% จากเดิม 4% จากการที่ประเทศไทยกำลังเผชิญสงครามเศรษฐกิจจากภายนอกและภายในประเทศ เป็นความเสี่ยงที่อาจฉุดจีดีพีปีนี้เติบโตไม่เท่าที่เคยคาดการณ์ ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศหลักๆ มาจากภาคการลงทุน ที่เกิดจากความไม่แน่ นอนทางการเมือง ได้แก่
สงครามทางทหาร ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเหนือและตะวันออกกลาง และปรากฏการณ์ความตึงเครียดล่าสุดระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซีย กดดันบรรยากาศการลงทุน การท่องเที่ยว และส่งผลให้เงินทุนมีความผันผวน
สงครามการค้า สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อลดการขาดดุลการค้ามหาศาล และอาจถูกตอบโต้จากประเทศคู่ค้า ทำให้การค้าโลกชะลอ กระทบการส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่หลักๆจะเป็นทางอ้อม เพราะไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐ จีน และประเทศอาเซียน
สงครามค่าเงิน สืบเนื่องจากสงครามการค้าทำให้หลายประเทศเศรษฐกิจชะลอ สหรัฐฯ ยูโรโซน หรือญี่ปุ่น พยายามทำค่าเงินตัวเองให้อ่อนค่าลงเพื่อช่วยผู้ส่งออก ซึ่งไทยและประเทศอื่นในอาเซียนก็ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากจากความไม่มั่นใจในสกุลเงินสำคัญ เงินจึงไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ ซึ่งไทยเป็นเหยื่อของสงครามค่าเงินและปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือลดการแข็งค่าของค่าเงินบาท กระทบผู้ส่งออก ส่วนผู้นำเข้าเองก็อาจชะลอนำเข้าเครื่องจักรเพื่อรอค่าเงินแข็งค่ากว่านี้
สงครามภาษี สหรัฐฯลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้กลับไปลงทุนในสหรัฐฯ ขณะที่ไทยเองก็ลดภาษีและสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนมาลงทุนใน EEC ซึ่งอีกประเทศก็พร้อมแข่งกันลดภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือนักลงทุนต่างชาติ แต่ประเทศที่จะช่วงชิงนักลงทุนต่างชาติได้ต้องอาศัยมากกว่าภาษี เช่น แรงงานฝีมือ โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุน ถ้าไทยมุ่งแข่งเรื่องภาษี ไทยมีแต่จะแพ้
สงครามจิตวิทยา สิ่งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ทำตลอด 1 ปีกว่าที่ผ่านมาและประสบความสำเร็จคือใช้วิธีการให้คนสับสน คู่ต่อสู้คาดเดาไม่ออก เพื่อบรรลุผลที่ตั้งใจไว้
สงครามการก่อการร้าย คล้ายสงครามทางทหารแต่คาดเดายากและจุดประสงค์เพื่อทำให้คนหวาดกลัว ส่งผลกดดันบรรยากาศการลงทุน การท่องเที่ยว ตลาดเงินผันผวนระยะสั้น
ขณะที่สงครามภายในประเทศ ประกอบด้วย สงครามชนชั้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรอบนี้เป็นการเติบโตบนความเหลื่อมล้ำ ผู้ได้ประโยชน์คือธุรกิจขนาดใหญ่ และคนรายได้ระดับกลางถึงบนขึ้นไป ขณะที่กลุ่ม SME และคนระดับฐานรากยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ รายได้ภาคเกษตรยังตกต่ำ สะท้อนภาพความแตกต่างทางรายได้ของคนไทย ซึ่งอยากเห็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและกระจายตัวอย่างทั่วถึงมากกว่ามุ่งเน้นการเติบโตอย่างเดียว
ชสงครามวัย ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุแล้วและกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีผลให้การจัดสรรทรัพยากรเพื่อดูแลผู้สูงอายุเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ควรดูแลผู้สูงอายุโดยไม่ละทิ้งคนวัยเด็กและวัยเริ่มทำงาน เพราะคนกลุ่มนี้กำลังจะแบกรับภาระทางภาษีเพื่อเลี้ยงดูคนสูงอายุในอนาคตควรเก็บภาษีให้เหมาะสมกับสวัสดิการแต่ละช่วงอายุ เริ่มกระตุ้นและให้แรงจูงใจคนวัยทำงานเริ่มออมเงินและลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยฯ กล่าวว่า โดยเฉพาะในส่วนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน อาจจะกระทบต่อการค้าโลกที่ชะลอตัว และกระทบต่อการส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งยังคงต้องติดตามประเด็นดังกล่าวต่อไป แต่คาดว่าจะไม่เป็นประเด็นที่เกิดความบานปลาย โดยที่มุมมองของศูนย์วิจัยฯ CIMBT ยังมองอัตราการขยายตัวการส่งออกไทยที่เป็นบวกมากขึ้น หลังจากตัวเลขการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกออกมาดี ซึ่งได้ปรับประมาณการณ์การส่งออกไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นเติบโต 7.4% จากเดิมที่คาดว่าเติบโต 4.5%
“แม้ว่าเราปรับประมาณการณ์จีดีพีลง สวนทางกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเรามองว่าปัจจัยหลักมาจากการเลือกตั้งที่เลื่อนออกไปเป็นปีหน้า ทำให้ความเชื่อมั่นของการลงทุนภาคเอกชนลดลง ทำให้การลงทุนชะลอตัว และอีกปัจจัยเป็นเรื่องสงครามการค้าจากปัจจัยภายนอก ซึ่งยังต้องติดตาม เพราะหากกระทบการส่งออกขึ้นมา จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่จีดีพี ของไทยในครึ่งปีแรกเราคาดว่าเติบโต 3.6% จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในแต่ละไตรมาส และมีโอกาสที่จีดีพีครึ่งปีหลังของปีนี้จะสูงกว่าครึ่งปีแรก แต่อาจจะยังไม่เห็นการเติบโตที่แรงมากนัก แต่จะไปเติบโตมากขึ้นในปี 62″นายอมรเทพ กล่าว
อย่างไรก็ดี สำนักวิจัยฯ ยังเชื่อมั่นในเทฟลอนไทยแลนด์ หรือภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีความทนทานต่อปัจจัยที่จะเข้ามากระทบ จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปชะลอลงต่ำกว่า 3% และหวังว่าถ้าปัญหาได้รับการแก้ไข โอกาสที่จะได้เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตเหนือ 4% ยังมีอยู่ ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ รัฐบาลจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและผู้บริโภคว่านโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจต่างๆ จะถูกสานต่อไปยังรัฐบาลชุดต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก อีกทั้งสามารถเร่งกระจายรายได้ สร้างการเติบโตทางกิจกรรมเศรษฐกิจในระดับฐานรากโดยไม่บิดเบือนกลไกตลาด แม้จะเป็นโจทย์ยาก แต่ยังหวังว่าท้ายสุดรัฐบาลจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นเพื่อท้าทายปัญหาทั้งนอกและในได้
ขณะที่คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทรงตัวที่ระดับ1.5% โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดมีมติคงดอกเบี้ยด้วยคะแนนเสียงโหวต 6 คนให้คงดอกเบี้ยและมี 1 คนโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่มองว่าเร็วไปที่กนง.ส่วนใหญ่จะขึ้นดอกเบี้ย จึงคาดว่าดอกเบี้ยจะคงที่ 1.5% ทั้งปี อย่างไรก็ดี ปลายปีจะเห็นแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น จากปัจจัยเงินเฟ้อ เศรษฐกิจเติบโต ประกอบกับเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า โดยสิ้นปีคาดแตะ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้
“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจจะมีโอกาสมากขึ้นในช่วงไตรมาส 1/62 เพราะปัจจุบันยังมีปริมาณสภาพคล่องในตลาดมาก และการที่คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้นาน ทำให้นักลงทุนโยกเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงเกินตัว ระหว่างรอสัญญาณจากกนง. ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การส่งสัญญาณบางอย่างของกนง.ให้มีความชัดเจนต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบ”.