บัญชีกลางไม่เบี้ยวหนี้ ขสมก.
“สุทธิรัตน์” ยืนยันไม่จ่ายเงินให้ ขสมก.แม้จะยังให้บริการรถเมล์ฟรีแก่ประชาชน เนื่องจากบัตรแมงมุม ไม่สามารถเชื่อมโยงกับระบบหักเงินอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง
“บัญชีกลางจะไม่จ่ายเงินให้แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แม้แต่บาทเดียว เนื่องจากระบบออนไลน์ระหว่าง ขสมก.กับกรมบัญชีกลาง ไม่สามารถเชื่อมระหว่างกันได้” นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวชี้แจงและกล่าวต่อว่า
ส่วนสาเหตุที่กรมบัญชีกลางไม่จ่ายเงินให้แก่ ขสมก. เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับเรียบร้อยหลังจากกระทรวงการคลังเดินหน้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เมื่อวันที่1 ต.ค.2560 ยกเว้น 7 จังหวัดประกอบด้วยกรุงเทพ มหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครปฐมและจังหวัดสมุทร สาคร จำนวนประมาณ 1.3ล้านคน ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค.เป็นต้น เนื่องจากต้องรอการติดตั้งเครื่องรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในรถเมล์ของ ขสมก.ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน โดยรถเมล์ของ ขสมก.ทุกคันจะสามารถรับบัตรแมงมุม หรือ e-Ticket ได้ ซึ่งในส่วนของประชาชน 1.3 ล้านใน 7 จังหวัด จะมีบัตรสวัสดิการฯ แบบ Hybrid 2 Chips ที่สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและค่าโดยสาร ขสมก.และรถไฟฟ้าภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน
“ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 17 ต.ค.จนถึงขณะนี้กรมบัญชีกลางยังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่ ขสมก.เลย หลังจากครม.ได้ยก เลิกรถเมล์ฟรี แล้วเปลี่ยนมาใช้บัตรคนจนแทน โดยประชาชนที่ถือบัตรคนจนแบบ Hybrid 2 Chips จะต้องมารูดบัตรที่เครื่องรับบัตรที่ตั้งอยู่ภายในรถ ขสมก. ถึงจะได้รับยกเว้นไม่เสียค่ารถเมล์ในวงเงินเดือนละ 500 บาท แต่จนถึงขณะนี้ เครื่องรูดบัตรของ ขสมก.ยังติดตั้งไม่เรียบร้อย จึงทำให้ ขสมก.ไม่สามารถเชื่อมโยงการเบิกจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทอนิกส์กรมบัญชีกลางได้”
นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้แก้ไขเรื่องดังกล่าว โดยอนุมัติให้ ขสมก.ไม่เก็บค่าโดยสารรถเมล์กับประชาชนที่โชว์บัตรคนจน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการยกเลิกโครงการรถเมล์ฟรี โดยสัญญาว่า รถเมล์จะติดตั้งเครื่องบัตรแบบ Hybrid 2 Chips ภายใน 6 เดือน หรือสิ้นสุดไปแล้วเมื่อเดือนมี.ค.ที่่ผ่านมา และยังสัญญาว่า ภายในเดือนมิ.ย.ปีนี้ จะสามารถนำบัตรคนจนไปใช้กับรถไฟฟ้าได้ด้วย อย่างไรก็ตามกรมบัญชีกลางจะไม่เข้าไปแทรกแซง หรือตำหนิการทำงานของ ขสมก.โดยจะปล่อยให้เรื่องดังกล่าว เป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของ ขสมก.
นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการบัตรสวัสดิการคนจนเมื่อเดือนต.ค.2560 ถึงเดือนมี.ค.2561 ได้เบิกจ่ายเงินงบประมาณไปแล้ว 19,000 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายเงินจากร้านธงฟ้าประชารัฐ มากที่สุด 18,800 ล้านบาท รองลงรถไฟ 108 ล้านบาท รถ บขส. 59 ล้านบาท และร้านค้าก๊าซ 21 ล้านบาท ขณะที่ ขสมก.ไม่มีการเบิกจ่าย โดยในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่มีการเบิกจ่ายมากสุดถึง4,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเดือนแรกที่รัฐบาลเดินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 หรือเฟส2
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้ส่งเงินเข้ากองทุนโครงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท และในช่วงครึ่งปีหลังงบประมาณ 2561 จะนำงบเพิ่มเติมกลางปีส่งมอบให้กระทรวงการคลังอีก 24,000 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณนี้ กระทรวงการคลังได้ของบประมาณจาก ครม.ดำเนินโครงการนี้ 46,000 ล้านบาท