“SME+ผู้ค้าออนไลน์”โอกาสทองอยู่บนมือ(ถือ)
เมื่อถนนทุกสายจากทั่วทุกมุมโลก ต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางสายดิจิทัล ท่ามกลางภาวะการตลาดยุคดิจิทัล (Digital Marketing) ที่เบ่งบานไปพร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์จากเดิมที่คุ้นชินอยู่กับการเดินทางไปดูและซื้อสินค้า รวมถึงชำระเงินค่าสินค้าและบริการด้วยเงินสด และ/หรือ ผ่านบัตรเครดิต ในรูปแบบที่ถูกเรียกขานเป็นการตลาดยุคเก่า
โลกใบเก่ากำลังถูกไล่ล่าจากความก้าวหน้าไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยี จนนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่าเป็น… “การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์”
จากนี้…ไม่แน่ว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า มนุษยชาติอาจได้เห็นยุคสิ้นสุดแห่งการชำระเงินในโลกยุคอนาล็อก ที่เคยผูกโยงอยู่กับเงินเฟียต (แบงก์และเหรียญ) หลังจากกระแสดิจิทัล เพย์เม้นท์ (Digital Payment) หรือการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์…เติบโตแบบก้าวกระโดด
สำหรับประเทศไทย สถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ต่างปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีทาง ด้านการเงินใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา วลี “ฟินเทค” (Fintech) หรือ Financial Technology จึงถูกนำมากล่าวถึงอยู่เสมอในแทบจะทุกเวทีที่มีการแถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนไปถึงสังคมไทย
การแข่งขันทางด้าน “ฟินเทค” ของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ ล้วนนำไปสู่เป้าหมายการสร้างและให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ที่อาจพูดได้ว่า…เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมๆ จนบางคนอาจหลงลืมบริการทางการเงินรูปแบบเก่ากันไปเลย
อย่างน้อยคนรุ่นใหม่ในยุค…”Gen Y” (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2523-2543 หรือกลุ่มคนที่มีอายุ 18-32 ปี) อาจคลับคล้ายคลับคลากับระบบการเงินแบบเดิมๆ แต่กับคนในยุค “Gen Z” (ผู้ที่เกิดหลังปี 2540 หรือกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปีลงมา) และยุคล่าสุดอย่าง “Gen C” แล้ว
พวกเขาคงมิอาจจดจำและไม่ยอมเสียเวลาไปจดจำการตลาดและการชำระเงินในโลกยุคเก่าอย่างแน่นอน
สภาวะและปรากฏการณ์นี้ “แบงเกอร์” ทุกคนต่างมองเห็นทั้งปัญหาและโอกาส ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามจะปรับเปลี่ยนองค์กรและพนักงานในองค์กรของตัวเองไปสู่ทิศทางเดียวกับ Digital Marketing
ธนาคารพาณิชย์บางแห่งพยายามสร้างการจดจำในกลุ่มผู้ใช้บริการทางการเงิน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ มองพวกเขาเป็น “ผู้นำทางด้านดิจิทัลแบงกิ้ง” และดูเหมือนธนาคารกสิกรไทยจะใกล้เคียงกับสิ่งนี้มากกว่าคู่แข่งหลายช่วงตัว หลังจากที่พวกเขาริเริ่มดำเนินโครงการ “รีเอนจิเนียริ่ง” ในยุคของ นายบัณฑูรย์ ล่ำซำ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน
ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยรุกคืบหน้าเพื่อช่วงชิงความเป็น “ผู้นำทางด้านดิจิทัลแบงกิ้ง” ใกล้เข้าไปทุกขณะ เริ่มจากที่พวกเขาเพิ่งประกาศจับมือกับกลุ่ม SkillLane สตาร์ทอัพเจ้าของ Digital Training Platform อันดับหนึ่งของประเทศไทย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของบุคลากรไปสู่ Digital Learning Platform อย่างเต็มรูปแบบ
ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งนี้ รู้ดีว่า…ต่อให้จ้างมืออาชีพมาทำงานให้ หรือเซ็ทแผนกนี้ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ และแม้แต่การจัดตั้งบริษัทในเครือ เพื่อสร้างนวัตกรรม “ฟินเทค” รูปแบบใหม่ใดๆ ขึ้นมาก็ตาม แต่หากไม่มีการเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากรไว้รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว โอกาสความสำเร็จอาจเดินไปไม่สุดทาง
แค่ช่วงสัปดาห์เศษๆ ธนาคารกสิกรไทย ได้เปิดตัว 2 โครงการเด่นๆ ตอกย้ำความเป็น “ผู้นำทางด้านดิจิทัลแบงกิ้ง” เริ่มจากวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวโครงการสร้างสินเชื่อมิติใหม่ ผ่านการใช้ “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอี โดยประมวลผลจากสิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้ ได้ทำอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการพิจารณาฐานข้อมูลจากเงินฝาก การใช้บัตรเครดิต จากจับจ่ายซื้อหาสินค้า ฯลฯ โดยเฉพาะฐานข้อมูลจากแอพพลิเคชั่น K PLUS เพื่อนำประเมินความต้องการทางการเงิน พร้อมกับเป็นธนาคารเองที่เป็นฝ่ายนำเสนอสินเชื่อไปถึงลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ
นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถือเป็น…ฐานรากของธุรกิจ-อุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม ที่สำคัญและจัดเป็นกลุ่มใหญ่สุดในระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยสัดส่วนที่มีมากกว่าร้อยละ 95 หรือราว 2,000,000 ธุรกิจ แต่ปัญหาของลูกค้ากลุ่มนี้… ไม่เพียงกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งยากต่อการติดต่อและติดตาม หากแต่ฐานข้อมูลที่ปรากฏอยู่กับธนาคารต่างๆ ยังมีน้อยมาก…มากเกินกว่าที่ธนาคารเหล่านั้นจะพิจารณาสินเชื่อให้ได้
ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมิอาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างที่ควรจะเป็น…
แต่เมื่อธนาคารกสิกรไทยค้นพบวิธีการปล่อยสินเชื่อรูปแบบใหม่ ผ่าน เมนู Life PLUS บนแอพพลิเคชั่น K PLUS ทำให้ช่องทางการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร และโอกาสการได้รับสินเชื่อของเอสเอ็มอี กลายเป็นเรื่องง่ายและสะดวกต่อทั้ง 2 ฝ่าย เพราะทุกอย่างเป็นไปบนโทรศัพท์มือถือ “สมาร์ทโฟน” ที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในมือของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่แล้ว
“จากฐานข้อมูลที่ธนาคารมีทั้งจากบัญชีออมทรัพย์ราว 10 ล้านบัญชี และจากผู้ใช้บริการ K PLUS อีกกว่า 8.5 ล้านราย ทำให้ประเมินได้ว่าควรจะปล่อยสินเชื่อให้กับใคร เบื้องต้นธนาคารตั้งเป้าไว้ว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีผ่าน เมนู Life PLUS บนแอพพลิเคชั่น K PLUS ทั้งสิ้น 6,000 ราย คิดเป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR+3 ต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราต่ำมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ เนื่องจากสินเชื่อประเภทนี้ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อีกทั้งใช้ระยะเวลาในการพิจารณาไม่นาน และหากระบบ AI พิจารณาให้ผ่าน ลูกค้าสามารถรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1 ล้านบาทภายในเวลาไม่กี่นาที”
นายสุรัตน์กล่าวด้วยว่า การเสนอสินเชื่อดังกล่าวถือเป็นการพลิกโฉมการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย และธนาคารกสิกรไทยถือเป็นรายแรกที่นำระบบนี้มาใช้ เพราะเชื่อว่า..จากนี้แนวโม้นการให้สินเชื่อจะเป็นไปในทิศทางนี้ และเมื่อธนาคารมีฐานข้อมูลของลูกค้าเยอะระบบ AI ก็จะช่วยขยายกลุ่มลูกค้าอื่นๆ ให้กับธนาคารได้
ทั้งนี้ ข้อดีของการให้สินเชื่อผ่านโทรศัพท์มือนั้น ไม่เพียงลดขั้นตอนการขอสินเชื่อ หากยังทำให้ลูกค้าได้เงินเพียงพอในเวลาที่ต้องการ โดยไม่เสียโอกาสทางธุรกิจ และหากมีการเดินบัญชีสม่ำเสมอ และมีวินัยทางการเงิน ธนาคารก็อาจเพิ่มวงเงินสินเชื่อมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีการผิดนัดชำระ ธนาคารจำเป็นต้องใช้ระบบการทวงถามโดยผ่านเจ้าหน้าที่ของธนาคารต่อไป
อีก 4 วันต่อมา (24 มิ.ย.61) ธนาคารกสิกรไทย ประกาศจับมือกับ facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ที่ใหญ่สุดของโลกยามนี้ ด้วยหวังจะใช้ “จุดเด่น” ของทั้ง 2 องค์กร สร้างโอกาสทางการตลาดผ่านช่องทาง “โซเชียล คอมเมิร์ช” หรือการค้าผ่านระบบออนไลน์ พุ่งเป้าสนับสนุนลูกค้าในกลุ่มเอสเอ็มอี และผู้ค้าออนไลน์ ที่นับวันจะเติบโตและแตกตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
ธนาคารกสิกรไทยจึงกลายเป็นธนาคารแห่งแรกของไทยที่ได้เปิดตัวบริการชำระเงิน Pay with K PLUS บนแพลตฟอร์ม Messenger facebook ที่สามารถสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อให้กับนักช้อปออนไลน์ ที่สามารถจะเลือกช้อปและชำระเงินได้ทันที
ฐานความคิดนี้ ถือว่า…ต่อเนื่องและเชื่อมโยงจากโครงการก่อนหน้านี้ได้อย่างหนักแน่นและลงตัว นั่นคือ การปล่อยสินเชื่อผ่านโทรศัพท์มือให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเป็นการ “เติมเต็ม” ที่ตอกย้ำความเป็น “ผู้นำทางด้านดิจิทัลแบงกิ้ง” ได้ชัดเจนที่สุด
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ฝากบอกสังคมไทย โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มเอสเอ็มอีและผู้ค้าออนไลน์ ผ่านกลุ่มผู้สื่อข่าวในวันแถลงข่าวเปิดตัวความร่วมมือกับกลุ่ม facebook ว่า…การที่ facebook เลือกธนาคารกสิกรไทย เพื่อหวังกระตุ้นตลาดออนไลน์ที่มีมูลค่าในไทยกว่า 1.4 แสนล้านบาทนั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดาและหาใช่ความบังเอิญแต่อย่างใด ทว่าเป็นเพราะธนาคารมีเจตจำนงและมีความมุ่งมั่นจะยกระดับการให้บริการทางเงินที่ล้ำสมัยแก่ลูกค้า ซึ่งจุดยืนนี้…สอดรับแผนงานและเป้าหมายของกลุ่ม facebook ในประเทศไทย
นั่นจึงเป็นที่มาของความร่วมมือระดับโลกในครั้งนี้
นายพัชร ย้ำว่า…“เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมชำระเงินดิจิทัลเพย์เม้นต์ (Digital Payment) ทำให้การชำระเงินง่าย สะดวก รวดเร็ว อีกทั้งบริการนี้ยังช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจซื้อขายออนไลน์ให้กับลูกค้ารายย่อยและเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กที่นิยมใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารตั้งแต่การแนะนำสินค้าไปจนถึงการชำระเงิน”
ปัจจุบัน ธนาคารมีลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อและใช้แอป K PLUS รวมกว่า 8.4 ล้านราย มีจำนวนธุรกรรมการโอนเงินเพิ่มขึ้นสูงถึง 88% ภายหลังประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียม รวมถึงจำนวนร้านค้าที่ใช้แอป K PLUS SHOP อีก 1.4 ล้านร้านค้า ซึ่งมีธุรกรรมการรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code) รวมกว่า 4,000 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการขยายช่องทางการขายบน facebook จากฐานลูกค้าและนวัตกรรมการให้บริการชำระเงินล่าสุดนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบริการชำระเงิน Pay with K PLUS
“ช่วงการเปิดตัวบริการชำระเงิน Pay with K PLUS ธนาคารจัดโปรโมชันสำหรับลูกค้าที่ชำระเงินผ่าน Pay with K PLUS เป็นครั้งแรก และมีมูลค่าครบ 300 บาท/รายการ รับเงินคืน 100 บาท ตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย ถึง – 25 ก.ย.นี้ ส่วนร้านค้าที่ผูกบัญชีธนาคารกสิกรไทยเพื่อรับชำระเงินผ่านบริการ Pay with K PLUS สามารถรับโบนัสสูงสุด 5,000 บาท เมื่อมีจำนวนรายการรับชำระสำเร็จตามที่กำหนด สิ้นสุด 31 ก.ค.นี้”
นายพัชร กล่าวอีกว่า การจัดโปรโมชั่นตลอด 3 เดือนแก่ผู้ซื้อและผู้ค้าออนไลน์ น่าจะทำให้มูลค่าตลาดที่มีราว 137,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เติบโตอย่างมากในปีนี้และปีต่อๆ ไป ทั้งนี้ ธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดของการใช้จ่ายเงินผ่าน K PLUS กว่าครึ่ง หรือราว 70,000 ล้านบาท คาดว่าโครงการนี้และโปรโมชั่นที่ให้มานั้น จะเพิ่มยอดค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาทในอนาคตอันใกล้ ซึ่งแน่นอนตลาดรวมก็คงจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 140,000-150,000 ล้านบาทเช่นกัน
“เฉพาะในส่วนของบริการชำระเงิน Pay with K PLUS นั้น ธนาคารหวังจะเห็นมูลค่าธุรกรรมรวมผ่านบริการนี้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทภายใน 1 ปีเช่นกัน นอกจากนี้ ธนาคารยังเตรียมวงเงิน 3,000 ล้านบาท สำหรับให้สินเชื่อแก่ผู้ค้าออนไลน์ที่มีประวัติการทำธุรกรรมผ่าน K PLUS โดยแต่ละรายจะได้รับการเสนอสินเชื่อผ่านโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ 200,000 – 1,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยราว 10% ต่อปี ซึ่งถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ” นายพัชรระบุ
ถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า…ยุคทองของธุรกิจเอสเอ็มอีและผู้ค้าออนไลน์ ต่อการจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมการตลาดออนไลน์ เพื่อให้การซื้อขายและชำระค่าสินค้า เกิดขึ้นบนโทรศัพท์มือถือเพียงเดียวนั้น ทุกอย่างมาพร้อมกับเทคโนโลยีทางการเงินรูปแบบใหม่
และสิ่งนี้…ก็น่าจะตอบโจทย์ที่จะทำให้ธุรกิจทั้ง 2 กลุ่ม เติบโตไปพร้อมๆ กับโลกการเงินที่พัฒนาไปข้างหน้าและไปได้ไกลเหนือจิตนาการ.
เครดิต : facebook – Bangker` Lunch