“โจ-ลี่ แฟมิลี่” แนะจัดแพจเกจจิ้งอลังการสร้างจุดขายปูทางสู่ร้อยล้าน
ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้เสมอไม่เลือกที่ ไม่ระบุวันเวลา แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ การนำความคิดดังกล่าวเหล่านั้นไปต่อยอด หรือพัฒนาต่อให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ ประตูแห่งความสำเร็จก็พร้อมที่จะเปิดต้อนรับให้เดินเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง
ชายหนุ่มที่ชื่อ “ณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา” หรือ โจ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด ผู้ประกอบการผลไม้อบแห้ง ภายใต้แบรนด์เวล-บี (WelB) และเวจจี้(Veggiez) คือผู้ที่กล้าคิดและกล้าลงมือทำ จนสามารถนำพาธุรกิจของตนเองมีรายได้ไปจนถึงหลัก 100 ล้านบาทได้ โดยที่ตนเองก็ยังมีอายุไม่มาก หรือจะเรียกว่า “อายุน้อยร้อยล้าน” ก็ไม่เกินเลยไปนัก
ชอบรับประทานสู่ธุรกิจ
ณัฐวุฒิ เริ่มเดินบนเส้นทางธุรกิจได้จากพื้นฐานที่เป็นคนชอบรับประทานอยู่แล้ว ดังนั้น จึงสนใจธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร หรือของกิน โดยมีความเชื่อว่า ของกิน จะเป็นธุรกิจที่อยู่ได้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นในยามที่เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็ตาม ประกอบกับที่ตนเองมีความรู้ด้านการทำตลาด รวมถึงมีประสบการณ์จากการทำงานเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จึงเสมือนเป็นตัวจุดประกายไอเดีย หรือแรงบันดาลในในการผลิตผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์สินค้าขึ้นมา
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ในลำดับแรกของบริษัท เริ่มจากการแปรรูปผลผลิตที่ล้นตลาดอย่างผลไม้ ให้กลายเป็นผลไม้อบแห้งภายใต้แบรนด์เวล-บี โดยเลือกใช้เทคโนโลยี “ฟรีซดราย” (Freeze-dried) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับผลไม้สดมากที่สุด อาทิ ทุเรียน ขนุน ลองกอง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่านวัตกรรมที่สร้างสีสันและการรับรู้คือผลิตภัณฑ์ Freeze-dried Yogurt Melts Mixed Berry ซึ่งเป็นโยเกิร์ตขึ้นรูปเป็นของแข็งเหมือนกับการทำน้ำแข็ง ด้วยการแช่แข็งก่อนแล้วผ่านกระบวนการเยือกแข็งสุญญากาศทำให้สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิห้องปกติ และเก็บได้นาน สามารถรับประทานเป็นของว่างได้ และยังสามารถส่งออกไปได้หลายประเทศ ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ
แพจเกจจิ้งดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ณัฐวุฒิ บอกถึงจุดดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคให้เข้ามาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ว่า จากประสบการณ์ตรงของตนพบว่า บรรจุภัณฑ์ หรือแพคเกจจิ้งเป็นจุดเหนี่ยวนำสายตาในลำดับแรกให้ผลิตภัณฑ์น่าสนใจ เพราะแม้สินค้าจะดีอย่างไร แต่ถ้าใส่ในแพกเกจจิ้งไม่ดึงดูดใจ คุณค่าของผลิตภัณฑ์ก็จะหายไป
“ยกตัวอย่างแบบง่าย ก็เหมือนกับขนมญี่ปุ่นที่กล่องสวยมาก บางผลิตภัณฑ์ต้องเปิดกล่องไม้ไปแล้วต้องแกะกระดาษไป8-9 ชั้นกว่าได้รับประทานขนม แม้ว่ารสชาติจะไม่อร่อยแต่ก็มีคนซื้อ เพราะแพกเกจจิ้งสวย โดยมองว่าปัจจัยดังกล่าวคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลให้โจ-ลี่ แฟมิลี่ เป็นเอสเอ็มอีที่ใช้เงินกับการดีไซน์มากที่สุดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะผู้บริโภคสมัยนี้ไม่ได้รับประทานด้วยปาก แต่รับประทานด้วยตา”
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องสร้างจุดขายที่แตกต่าง เช่น การนำเอาทุเรียนอบที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาเคลือบช็อกโกแลต ซึ่งเป็นนวัตกรรมเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิตหรือระหว่างบรรจุแทนที่จะขายเป็นทุเรียนผงหรือน้ำทุเรียนได้กำไรน้อย หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทุเรียน เป็นรูปเหรียญเงินจีน เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าไหว้เจ้าช่วงตรุษจีน โดยนำทุเรียบอบที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาสร้างสรรค์ใหม่เป็นรูปเหรียญเงินจีน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
หรืออาจจะเป็นการสร้างสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น หรือที่เรียกว่า “ไทยแลนด์ โอนลี่” (Thailand Only) ด้วยการยืมความโดดเด่นของเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือไลเซ่นส์ ที่มีคาแรกเตอร์ที่ผลิตเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้นอย่างคอลเลคชั่น ของวอลส์ ดิสนีย์ อาทิ มิคกี้ เมาส์ที่จะมีกลิ่นอายการดีไซน์ความเป็นไทยออกมา เพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น
“ด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงส่งผลทำให้10 ปีที่ผ่านมาบริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่กลายเป็นผู้ผลิตขนมเพื่อสุขภาพที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ 30ประเทศทั่วโลกและยังรับผลิตผลิตภัณฑ์ให้กับ Tops และ King Power อีกด้วย”
รู้จักการปรับตัว
ณัฐวุฒิ บอกต่อไปอีกว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจของตนต้องหยุดชะงักไปบ้าง เพราะไม่สามารถส่งออก และขายผลิตภัณฑ์ให้กับนักท่องเที่ยวได้ ดังนั้น จึงต้องหาพยายามเสาะสแวงหาช่องทางใหม่ในการเข้าถึงลูกค้า จึงเป็นที่มาของการเปิด Wel-B Market เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าคุณภาพ ทั้งผลไม้ อาหารทะเล และเนื้อสัตว์ เดลิเวอรี่ ขึ้นมาในรูปแบบของฟู้ดเซอร์วิส
โดยเริ่มขายทุเรียนเดลิเวอรี่ผ่านโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม จนพบว่า กลุ่มลูกค้าที่ชอบทุเรียน น้ำส้ม ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุจึงใช้ช่องทางขายผ่านทางไลน์ออฟฟิเชี่ยลแอคเคานต์ หรือ ไลน์โอเอ เพื่อให้ผู้ติดตามสามารถสั่งซื้อผ่านหน้าร้านออนไลน์ที่ ได้ 24 ชั่วโมง
“นี่ถือเป็นอีกช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าโดยตรงโดยไม่ผ่านร้านค้า(คนกลาง) ที่สำคัญตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปคือไม่นิยมออกไปนอกบ้านหากไม่จำเป็น เพราะกลัวติดโรค ไม่อยากเสียเวลาเดินทาง”
อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวโน้มการทำธุรกิจต่อจากนี้ไปจะแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยลดช่องว่าง เพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้เร็ว จะสามารถยอมรอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง เจ้าของสินค้าไม่จำเป็นต้องง้อร้านค้าเหมือนในอดีต เพราะสามารถติดต่อสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง จากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เกิดขึ้น เรียกว่าไม่ว่าผู้ซื้อหรือผู้ขายจะอยู่ที่ไหนก็สามารถติดต่อถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านคนกลางอีกต่อไป