“กาลเล่น” อาณาจักรป้ายสังกะสีวินเทจ
แฟชั่นสไตล์วินเทจ หรือของเก่าย้อนยุคยังคงเป็นเสน่ห์ที่น่าหลงใหลและไม่มีวันตายไปตามกาลเวลา แม้ว่าโลกยุคปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลง
อีกทั้งยังเต็มไปด้วยความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีและสินค้าที่ทันสมัย ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วเท่าไหร่ ความโหยหากลิ่นอายของความเป็นอดีตยิ่งกลับเข้มข้นเป็นเงาตามตัว โดยจะเห็นได้จากแฟชั่นการแต่งตัวย้อนยุคที่ยังสามารถนำมาใส่ได้อย่างโดดเด่นในยุคปัจจุบัน
ขณะที่ของตกแต่งบ้านที่เป็นของเก่าก็เป็นที่นิยมอย่างไม่เคยเสื่อมคลายเช่นเดียวกัน พิศาล กรมพิศาล จับจุดรสนิยมกลุ่มคนวินเทจสไตล์ โดยเลือกสินค้าเกี่ยวกับสังกะสีที่ผลิตใหม่ในสไตล์ย้อนยุคมาจับเป็นธุรกิจภายใต้ชื่อร้าน “กาลเล่น” เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการของตกแต่งบ้านหรือตกแต่งร้านแนวย้อนยุค แต่ไม่สามารถหาของเก่าแบบจริงๆ ได้
จากแบกะดินสู่ shop แสดงสินค้า
พิศาล เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีตนเองก็เป็นพนักงานออฟฟิตทำงานจันทร์-ศุกร์เหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป แต่ด้วยความเสียดายเวลาและเงินทองที่ต้องสูญเสียไปกับยามว่างในวันหยุด ประกอบกับน้องชายของแฟนเป็นผู้นำเข้าสินค้าที่ทำจากสังกะสีในรูปแบบต่างๆ มาจำหน่ายที่ต่างจังหวัด จึงเกิดประกายไอเดียในการนำสินค้ามาขายในกรุงเทพมหานคร เพื่อ Start Up ธุรกิจให้กับตนเอง
ก่อนที่ร้านกาลเล่นจะเป็นก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมีshopแสดงสินค้าเป็นของตนเองอย่างปัจจุบัน เส้นทางที่เดินมาของพิศาลไม่ได้สวยหรูไปเสียทั้งหมด ในช่วงก่อร่างสร้างธุรกิจนั้นได้นำสินค้าไปวางขายในรูปแบบของ “แบกะดิน” ที่ตลาดนัดรถไฟตรงข้ามตลาดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งก็ขายได้บ้างไม่ได้บ้างแล้วแต่วัน หลังจากนั้นจึงกลับมาวิเคราะห์และเห็นว่าน่าจะมาจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่
1. สินค้าไม่หลากหลายมีจำนวนแบบให้ลูกค้าเลือกน้อยเกินไป ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากร้านอยู่ในโซนแบกะดิน โดยต้องแบกสินค้าไปกลับทุกวัน ซึ่งป้ายสังกะสีเมื่อมีจำนวนมากๆ ก็ค่อนข้างจะหนักทำให้ไม่สามารถขนไปได้เยอะมาก และ 2. พื้นที่ในการโชว์สินค้าค่อนข้างจำกัดและไม่สะดวก เนื่องจากป้ายสังกะสีเป็นสินค้าที่ต้องโชว์ให้ลูกค้าเห็นและให้หยิบจับได้ง่าย แต่พื้นที่มีขนาดจำกัดทำให้แขวนป้ายโชว์ได้น้อยส่วนที่เหลือก็วางกองอยู่กับพื้นทำให้ไม่น่าสนใจ
ช่วงเวลานั้นจึงมองหาช่องทางที่จะมีหน้าร้านแบบถาวร ซึ่งประจวบเหมาะกับตลาดนัดรถไฟโดนขอพื้นที่คืนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำให้ต้องหาทำเลใหม่ในการทำตลาดและได้ข้อสรุปบนพื้นที่หลังห้างซีคอนสแควร์ศรีนครินทร์ จึงไม่ลังเลที่จะจองห้องประจำเพื่อขายสินค้า
จาก 1 ขยายเป็น 3 สาขา
การตีโจทย์ทางการตลาดของพิศาลถือว่าเดินมาถูกทาง เพราะเมื่อมีช็อปที่สามารถแสดงสินค้าได้เป็นจำนวนมากและมีจำนวนลายของสินค้าให้ลูกค้าได้เลือกมากขึ้นแบบเป็นสัดส่วน ภายใต้การตกแต่งร้านที่เป็นเอกลักษณ์ดึงดูดให้ผู้ที่เดินผ่านไปมาต้องหยุดชะงักและแวะชมสินค้า ส่งผลให้ยอดขายเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็ต้องลาออกจากงานประจำมาจับงานธุรกิจอย่างเต็มตัว เพราะต้องใช้เวลาในการเดินทางไปเลือกและขนสินค้าจากต่างจังหวัดมาเติมเต็มในร้านด้วยตนเอง เพื่อรักษามาตรฐานของสินค้า และได้ลายที่ลูกค้าชื่นชอบจากการจดบันทึกพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้า
หลังจากธุรกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดี จึงเริ่มมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตลาดนัดรถไฟมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มเติมไปยังพื้นที่ย่านรัชดา ด้วยศักยภาพและแบรนด์ของตลาดนัดรถไฟทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าการขยายสาขาไปพร้อมกับตลาดน่าจะเป็นแนวทางที่ดี แต่ด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียดของธุรกิจจึงไม่คิดที่จะใช้วิธีการขยายสาขาและใช้ลูกจ้างเป็นผู้ดูแลร้านแทน ดังนั้น แนวทางที่เลือกคือการหาผู้ร่วมทุนที่ไว้ใจได้ ที่สำคัญจะต้องมีเวลามาดูแลร้านด้วยตนเอง เพราะเชื่อว่าเมื่อเจ้าของธุรกิจที่ลงทุนด้วยตนเองมาดูแล จะมีความกระตือรือร้นในการขายสินค้ามากกว่า
เมื่อได้ทำเลดี และผู้ร่วมทุนที่ไว้ใจได้ทำให้ยอดขายของร้านกาลเล่นสาขา 2 เป็นไปได้อย่างเปรี้ยงปร้าง โดยสามารถถอนทุนคืนได้อย่างรวดเร็ว แผนการดำเนินธุรกิจในขั้นต่อไปจึงเริ่มก่อตัวขึ้น และเมื่อได้รับทราบข่าวจากทางตลาดนัดรถไฟว่าจะขยายสาขาเพิ่มเติมไปยังพื้นที่ถนนเกษตร-นวมินทร์ จึงไม่รีรอที่จะตัดสินใจยื่นโปรไฟล์ร้านและจับจองพื้นที่ในการขาย โดยยึดโมเดลธุรกิจรูปแบบเดียวกับสาขาที่ 2 เป็นแนวทาง ทำให้ปัจจุบันร้าน “กาลเล่น” จึงมีอยู่ทั้งหมด 3 สาขากระจายไปตามจุดต่างๆของกรุงเทพมหานคร
“แนวทางในการร่วมทุนของร้านจะเป็นรูปแบบที่ง่ายๆ สบายๆ ด้วยความที่ผู้ร่วมทุนก็คือเพื่อน สินค้าที่นำมาวางจำหน่ายในร้านลอตแรก หรือเรียกว่าการลงทุนทางด้านสินค้าเราจะออกให้ก่อนทั้งหมด แล้วค่อยๆ ทยอยผ่อนชำระคืนค่าสินค้าไปเรื่อยๆ จนสินค้าในร้านเป็นเงินที่ซื้อด้วยเงินของร้านเองได้ ส่วนค่าเช่าค่าตกแต่งร้านก็ช่วยกันออกคนละครึ่งตามหลักของผู้ร่วมทุนทั่วไปตามปกติ”
ระดมทุกช่องทางสื่อตรงถึงลูกค้า
เมื่อถามถึงกลยุทธ์ในการทำตลาด พิศาลบอกว่าส่วนใหญ่จะเน้นช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารกับลูกค้าเป็นหลัก โดยมีเฟสบุ๊ก (Facebook) เป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งเราจะมีเพจร้านเป็นของตัวเอง เพื่อคอยอัพเดทสินค้าลายใหม่ๆ และลงรูปสินค้าให้ลูกค้าได้เลือกได้ตัดสินใจกันก่อนที่จะมาหน้าร้าน หรือสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยทุกครั้งที่โพสก็จะใช้วิธีแท็กเฟสบุ๊กของตลาดนัดรถไฟทั้ง 3 สาขาด้วย ซึ่งทางตลาดก็จะแชร์โพสของร้านต่อไปที่เพจของตลาด ซึ่งมีผู้ติดตามหลายแสนคน ทำให้ลูกค้าได้เห็นสินค้าของร้านในวงกว้างมากขึ้น และรู้ว่ามีป้ายสังกะสีตกแต่งบ้าน ตกแต่งร้าน จำหน่ายอยู่ภายในตลาด ใครที่ต้องการสินค้าแนวนี้ก็จะรู้ว่าสามารถมาเลือกหาได้ทุกสาขา
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของกลยุทธ์ในการตั้งราคาสินค้าที่เรานำมาใช้กับร้าน โดยอาศัยประสบการณ์จริงจากการที่เคยเป็นผู้บริโภคมาปรับใช้ เพื่อพิจารณาราคาสินค้าแต่ละชิ้นให้มีความเหมาะสม เพราะเข้าใจดีว่าลูกค้าย่อมต้องการสินค้าในราคาที่สามารถจับต้องได้ โดยเชื่อว่าเมื่อลูกค้ามีความพึงพอใจก็จะกลับมาซื้อสินค้าที่ร้านอีก เราไม่ได้ต้องการขายเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วจบ แต่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้ามากกว่า เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงในระยะยาวให้กับร้าน
กลยุทธ์อีกรูปแบบหนึ่งคือ “การสร้างความแตกต่าง” นอกจากสินค้าจะมีให้เลือกมากกว่า 1,000 แบบแล้ว บางแบบบางลายก็ได้สั่งต่างประเทศผลิตขึ้นมาเองด้วย อย่างเช่น ภาพรถตุ๊กตุ๊กคู่กับวัดพระแก้ว ฝีมือการถ่ายภาพของหนึ่งในเพื่อนร่วมหุ้น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทำให้ตอนนี้ร้านกาลเล่นถือว่าเป็นเจ้าใหญ่ที่มีสินค้ามากที่สุดในกรุงเทพมหานครก็ว่าได้
ขณะที่การตกแต่งร้านของเราก็ต้องถือว่าเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง โดยทางร้านจะเลือกใช้โทนสีในการตกแต่งร้านทั้ง 3 สาขาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เช่นเดียวกับการตกแต่งภายใน ซึ่งหากลูกค้ามองเข้ามาก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือ “ร้านกาลเล่น” เพื่อเป็นการสร้างภาพจำให้กับลูกค้า
“เป้าหมายในอนาคตนั้น เราต้องการสร้างแบรนด์ร้านกาลเล่นให้เป็นที่รู้จักของกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบสินค้าตกแต่งบ้านแนววินเทจ โดยหากนึกถึงสินค้าแนวนี้ต้องนึกถึงร้านเราเป็นอันดับต้นๆ โดยทางร้านก็จะมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของสินค้าและการให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้น” พิศาลกล่าวปิดท้าย.