ร่างกม.ใหม่ยุโรปกระทบยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. สหภาพยุโรปเผยร่างกฎหมายใหม่ที่ให้อำนาจมากขึ้นกับหน่วยงานที่กำกับดูแลในการจัดการกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ โดยสามารถสั่งปรับจำนวนมหาศาล และสามารถสั่งหยุดและแบนหากมีการกระทำความผิดซ้ำ
คณะกรรมาธิการยุโรปเผยร่างนโยบายใหม่ที่กำหนดให้หลายบริษัทต้องเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจ นับเป็นความพยายามอย่างที่สุดของอียูที่จะควบคุมบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ทั้งแอมะซอน แอปเปิล กูเกิล และเฟซบุ๊ก อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม
บริษัทโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ต้องเจอกับร่างกฎหมายใหม่ที่มุ่งเน้นการกำจัดคอนเทนต์ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายออกจากแพลตฟอร์มภายใต้ร่างกฎหมายของสหภาพยุโรปที่เรียกว่า Digital Services Act โดยร่างที่สองซึ่งเรียกว่า Digital Markets Act จะเป็นเหมือน ‘คนเฝ้าประตู’ ที่เข้มงวดกับสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้เพื่อป้องกันการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม ตัวอย่างเช่น บริษัทเหล่านี้จะถูกห้ามไม่ให้ใช้ข้อมูลที่ได้มาจากผู้ใช้งานธูรกิจในการแข่งขันกับบริษัทอื่น
“ทั้งสองร่างที่เสนอมามีจุดประสงค์เดียว คือ ให้แน่ใจว่าเรา ในฐานะผู้ใช้งาน สามารถเข้าถึงทางเลือกที่เปิดกว้างสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการออนไลน์ที่ปลอดภัย และธุรกิจที่ดำเนินการในยุโรปมีการแข่งขันแบบเสรีและเป็นธรรมในโลกออนไลน์เหมือนกับโลกการค้าทั่วไป ” มาร์เกรต เวสเทเกอร์ คณะกรรมาธิการยุโรปที่กำกับดูแลด้านเทคโนโลยีระบุในแถลงการณ์
โดยสหราชอาณาจักร ซึ่งออกจากอียูก่อนหน้านี้ ก็เข้าร่วมกับร่างกฎหมายนี้เช่นกัน ทั้งนี้ บริษัทเทคโนโลยีใดที่ล้มเหลวไม่สามารถสกัด หรือจำกัดการแพร่กระจายของคอนเทนต์ผิดกฎหมายได้ จะถูกปรับในอัตรา 10% ของยอดขายต่อปีภายใต้ร่างกฎหมายใหม่ที่มีการเสนอเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.
นอกจากนี้ บริษัทที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามนโยบายคอนเทนต์ที่อียูเสนออาจถูกปรับถึง 6% ของรายได้ทั่วโลก และผู้กระทำความผิดซ้ำอาจถูกแบนแพลตฟอร์มชั่วคราว โดยการผูกขาดทางการค้าที่มีโทษปรับถึง 10% จากรายได้ทั่วโลกจะถูกขยายพื้นที่ออกไปอีก และในอนาคต ผู้กระทำผิดอาจถูกบังคับให้ขายธูรกิจ หากยังคงฝ่าฝืนกฎหมาย
คาดการณ์ว่าบริษัทไฮเทคเหล่านี้ต้องเคลื่อนไหวต่อต้านข้อเสนอนี้อย่างสุดกำลัง
“ เราเฝ้ารอที่จะได้ทำงานกับผู้กำหนดนโยบายของอียูเพื่อช่วยให้แน่ใจว่าร่างที่เสนอมาจะสอดคล้องกับเป้าหมายที่ยุโรปจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งหมดจากผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล” สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และสื่อสาร ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าที่เป็นตัวแทนของแอมะซอน เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์และกูเกิลระบุในแถลงการณ์ “ เราหวังว่าการเจรจาในอนาคตจะทำให้อียูเป็นผู้นำในนวัตกรรมดิจิทัล ไม่ใช่แค่กฎหมายดิจิทัล”
ร่ากฎหมายที่เสนอมา ( ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีผลบังคับใช้ และอาจมีการแก้ไข ) เพิ่มแรงกดดันมากขึ้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคทั่วโลก
เวสเทเกอร์ระบุในการแถลงข่าวว่า ร่างกฎหมายนี้เกิดขึ้นโดยมีสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดาและญี่ปุ่นเข้าร่วมในการพูดคุยทั่วโลก
“สิ่งสำคัญคือคือขนาดต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ” เธอระบุ