กรุงไทยยัน“ปิดท่อ-ถุงเงิน”หากร้านค้าทำผิด กม.
ลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้” วันที่ 5 (27 ก.ย.) “เต็มล้าน” เร็วกว่ากำหนด เผย “แคท” มาช่วยขยายช่องทางรับลงทะเบียนพร้อมกัน
จาก 2 แสนคน/ชม. เป็นกว่า 3 แสนคน/ชม. ด้านแบงก์กรุงไทย พร้อม “ปิดท่อ-ถุงเงิน” ร้านค้าทำผิดเงื่อนไข ส่วนการดำเนินคดีอาญาเป็นหน้าที่ ก.คลัง ย้ำไม่ควรปรับเปลี่ยนเวลาลงทะเบียน หวั่นทำลายสิทธิ์คนอื่น ด้าน “อุตตม” วอน “ชาวบ้าน-สื่อ” ช่วยสอดส่องอีกแรง ขณะที่ กรมบัญชีกลาง ยืนยัน BIG DATA อยู่ในมือ หากแบงก์รัฐอยากได้ต้องทำหนังสือขอใช้อย่างเป็นทางการ
ผู้สื่อข่าวรายงานการลงทะเบียนของคนไทยในมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ช่วงวันที่ 5 ของมาตรการฯ นับแต่เวลา 00.01 น.วันที่ 27 ก.ย.62 เป็นต้นมา พบว่า มีอาการ “คอขวด” จนหลายคนไม่สามารถจะเข้าไปลงทะเบียนฯได้ ทั้งนี้ การลงทะเบียนฯในวังดังกล่าว “เต็ม 1 ล้านคน” ตั้งแต่เวลา 02.56 น.
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวถึงปัญหาร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” อาจดำเนินการที่ผิดจากวัตถุประสงค์ หรือมีธุรกรรมลักษณะผิดปกติ เช่น การรับแลกวงเงินเป็นเงินสด และจำหน่ายสินค้าที่ไม่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทย เช่น ร้านจำหน่ายสลากกินแบ่งฯ โดยย้ำว่า ธนาคารกรุงไทยมีระบบตรวจที่สามารถจะตรวจพฤติกรรมการจำหน่ายสินค้าและบริการของร้านค้าอยู่แล้ว ทั้งหากภาคประชาชนและสื่อมวลชนจะช่วยกันสอดส่องดูแลร้านค้าที่อาจเข้าข่ายมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งข้อมูลกังกล่าวไปยังกรมบัญชีกลาง และ/หรือ ธนาคารกรุงไทยได้ ทั้งนี้ หากพบร้านค้าเหล่านั้น ดำเนินธุรกรรมที่ผิดวัตถุประสงค์หรือผิดกฎหมาย ก็จะดำเนินการระงับสิทธิ์ทันที และจะถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ด้าน น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงฐานข้อมูลที่ได้จากมาตรการ “ชิมช้อปใช้” (BIG DATA) ว่า ถือเป็นข้อมูลสำคัญระดับชั้นความลับของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานราชการที่ไม่มีกิจกรรมข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภค และลักษณะการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รวมถึงการทำธุรกรรมต่างๆ ของร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการฯ จึงอาจใช้ BIG DATA ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร จำเป็นต้องดึงเอาธนาคารกรุงไทยมาร่วมในมาตรการนี้
อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางจะเป็นผู้ถือ BIG DATA ในส่วนนี้แทนที่รัฐบาลเพียงหน่วยงานเดียว โดยที่ธนาคารกรุงไทย หรือส่วนราชการอื่นๆ ไม่สามารถจะเข้ามาใช้ BIG DATA ยกเว้นได้ทำหนังสือขออนุญาตเข้าใช้ข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นทางการเสียก่อน ซึ่งมีแนวโน้มว่าธนาคารกรุงไทยและสถาบันการเงินในกำกับดูแลของรัฐ อาจจะได้อนุญาตให้เข้าใช้ BIG DATA หลังจากได้ทำหนังสือขออนุญาตอย่างเป็นทางการ และเชื่อว่าธนาคารกรุงไทยและสถาบันการเงินในกำกับดูแลของรัฐ จะใช้ประโยชน์จาก BIG DATA เพื่อการวางแผนทางด้านธุรกิจและการตลาด รวมถึงร่วมผลักดันและขันเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศได้
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผู้ที่ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ก.ย.62 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการเปิดรับลงทะเบียนฯ ว่า มีผู้ผ่านเกณฑ์ 775,232 ราย โดยผู้ได้รับสิทธิ์จะทยอยได้รับ SMS ยืนยันภายในวันนี้ (27 ก.ย.) และสามารถเดินทางท่องเที่ยวพร้อมเริ่มจับจ่ายใช้สอยได้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.- 11 ต.ค.62 โดยเมื่อเริ่มใช้สิทธิ์ครั้งแรกแล้ว สามารถใช้สิทธิ์ต่อเนื่องได้จนสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 พ.ย.ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ หากพิจารณารายละเอียดพบว่า ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในวันที่ 2 ส่วนใหญ่กว่า 87,000 ราย มีสาเหตุจากการยืนยันตัวตน หรือการกรอก OTP เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด 3 นาที อีกส่วนหนึ่งกว่า 67,000 ราย มีข้อมูลไม่ตรงกับฐานข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการกรอกข้อมูลผิดพลาด เช่น การใส่คำนำหน้าชื่อ ไม่ว่าจะเป็น นาย นาง หรือนางสาวลงในช่องที่จะต้องกรอกชื่อ ซึ่งในความจริงแล้วไม่ต้องกรอกคำนำหน้าชื่อ หรือความสับสนระหว่างหมายเลขศูนย์กับตัวอักษร O (โอ) ในส่วนของรหัสที่อยู่ด้านหลังบัตรประชาชน เป็นต้น และอีกกว่า 70,000 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากเลือกจังหวัดที่ต้องการไปใช้สิทธิ์ตรงกับจังหวัดที่เป็นทะเบียนบ้านของตน
โฆษกกระทรวงการคลังย้ำว่า ขอให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “ชิมช้อปใช้” โปรดกรอกข้อมูลในระหว่างลงทะเบียนด้วยความรอบคอบและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนยืนยัน อย่างไรก็ดี สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ สามารถลงทะเบียนใหม่ได้จนกว่าจะมีผู้รับสิทธิ์ครบ 10 ล้านคน
ส่วนกรณีการใช้ระยะเวลาลงทะเบียนฯไม่ถึง 3 ชม.ในวันที่ 5 ของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ทั้งที่ธนาคารกรุงไทยทำการปรับความกว้างของแถบคลื่นความถี่ (Bandwidth) ให้สามารถรองรับจำนวนคนในการเข้าลงทะเบียน พร้อมกันจากเดิมที่ 50,000 ราย/ชม. เป็น 100,000 ราย/ชม. และขยายในชั่วโมงเร่งด่วนมากสุดถึง 200,00 ราย/ชม.นั้น นายผยง ศรีวณิช กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกัน โดยเฉพาะแคท เทเลคอมที่ช่วยขยาย Bandwidth จนสามารถรองรับความต้องการลงทะเบียนฯพร้อมกันได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจะปรับขยายเวลาเปิดรับลงทะเบียนให้เป็นช่วงเวลาทำงานปกติ หรือ ตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไปนั้น ขึ้นอยู่กับพิจารณาของฝ่ายนโนบายและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ส่วนตัวเห็นว่า ไม่น่าจะทำได้ เพราะการปรับเปลี่ยนเวลาดังกล่าว เท่ากับไปทำลายสิทธิ์ของผู้ที่ลงทะเบียนฯ ในช่วงเวลานับแต่ 00.01 น. เป็นต้นมาเช่นกัน อีกทั้งแนวคิดของมาตรการนี้ คือ First Come First Serve ดังนั้น จึงต้องให้สิทธิ์แก่ผู้ที่ลงทะเบียนฯก่อน
ส่วนกรณีของร้านค้าที่อาจดำเนินการผิดจากวัตถุประสงค์ หรือมีธุรกรรมลักษณะผิดปกตินั้น เบื้องต้น ธนาคารกรุงไทยได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยดำเนินการและคอยสอดส่องในโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อตรวจสอบดูว่า ร้านค้านั้นๆ เข้าข่ายทำผิดหรือไม่? ทั้งนี้ เท่าที่ได้รับรายงานพบว่ามีร้านค้าที่ถูกถอนสิทธิ์ออกไปเพียง 10 กว่าแห่งเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นเพราะลืมเปิดแอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีกรณีที่ร้านค้าทำวัตถุประสงค์ หรือมีธุรกรรมลักษณะผิดปกติแล้ว ธนาคารกรุงไทยจะ “ปิดท่อ” (ปิดการรับชำระเงิน) ในสิทธิ์ “ถุงเงิน” ทันที ส่วนการดำเนินคดีทางกฎหมายนั้น เป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลาง และสศค. ที่จะต้องจัดการในเรื่องนี้.