ปชน.คาใจ โครงการซื้อไฟจากรัฐ เหตุประชาชนแบกค่าไฟแพง

“ศุภโชติ” ถามกระทู้กรณีโครงการรับซื้อไฟ 5,200 เมกะวัตต์ งงรัฐบาลลุยลงนามสัญญาเกือบครบทุกโครงการแล้วทั้งที่มีปัญหาเหมือนโครงการ 3,600 เมกะวัตต์ที่สั่งชะลอไป ชี้อาจเป็นเหตุให้ประชาชนแบกรับค่าไฟแพงขึ้นแสนล้านบาทไปอีก 25 ปี
วันที่ 10 เมษายน 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อนายกรัฐมนตรี กรณีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งนายกฯ มอบหมายให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน
นายศุภโชติเริ่มต้นกระทู้โดยระบุว่ากรณีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสองเฟส ทั้ง 5,200 เมกะวัตต์ และ 3,600 เมกะวัตต์ ไม่ว่าจะเป็นนายกหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพูดคุยประเด็นนี้ แต่มีการถามตอบคำถามถึงกรณีนี้ในสภามาแล้ว อีกทั้งตนและผู้นำฝ่ายค้านฯ ก็เคยได้ตั้งคำถามถึงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งตนต้องขอบคุณรัฐมนตรีที่เคาะมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ออกมาให้ชะลอการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ออกไปก่อน

แต่ในเวลาไล่เลี่ยกันตนก็ได้ตั้งคำถามหลายครั้งถึงโครงการเฟสแรก 5,200 เมกะวัตต์ที่มีปัญหาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นไม่มีการเปิดให้มีการประมูล การกำหนดราคารับซื้อที่แพงกว่าที่ควรเป็น และไม่ได้มีการกำหนดวิธีการให้คะแนนเอกชน อีกทั้งศาลปกครองยังได้พูดถึงโครงการนี้ไว้ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่ส่อให้เกิดการทุจริต
นายศุภโชติกล่าวต่อไปว่าผลการคัดเลือกออกมามีเอกชนกลุ่มทุนไม่กี่รายที่ได้สัมปทานไปเกือบทั้งหมด มีการคำนวณไว้ว่าหากปล่อยให้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้านี้ จะทำให้ประชาชนคนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรเป็นกว่า 1 แสนล้านบาทตลอดระยะเวลา 25 ปี แต่แทนที่รัฐมนตรีจะสั่งให้มีการชะลอการลงนามซื้อขายไฟฟ้าเหมือนกรณีโครงการ 3,600 เมกะวัตต์ รัฐมนตรีกลับทำตรงกันข้ามให้เอกชนเข้ามาลงนามสัญญาแบบเงียบๆ โดยที่รู้ว่ารัฐมนตรีมีสิทธิที่จะยกเลิกได้เฉพาะโครงการที่ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาเท่านั้น
ดังนั้น คำถามแรก ทำไมรัฐมนตรีถึงไม่ได้สั่งชะลอการลงนามสัญญาเหมือนที่ทำกับโครงการเฟสสอง ทั้งที่เป็นโครงการที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน รัฐมนตรีจะมีการสั่งให้ชะลอหรือยกเลิกการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในเฟสแรก ในส่วนของโครงการที่เหลือที่ยังไม่ได้ลงนามได้หรือยัง เพราะจากกำหนดการรัฐบาลจะให้เอกชนเข้ามาลงนามทั้งหมดภายในวันที่ 19 เมษายน 2568 นี้ และโครงการที่ได้มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วเรียบร้อยรัฐบาลจะเอาอย่างไร จะกลับไปแก้ไขได้หรือไม่
ในส่วนของนายพีระพันธุ์ระบุว่าตนมีความห่วงไม่ต่างจากผู้ถามกระทู้ แต่ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย การทำอะไรต่างๆ ต้องมีกฎหมายรองรับ ปัญหาเรื่องพลังงานหมักหมมมานาน ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องของกฎหมาย ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับพลังงานน้อยมาก และมีปัญหากฎหมายที่แทบไม่ได้ให้อำนาจอะไรรัฐมนตรีเลย เวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไฟฟ้ามีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ทำให้เกิดปัญหาในปัจจุบัน

นโยบายอยู่ที่ กพช. แต่การปฏิบัติอยู่ที่ กกพ. ซึ่งมีสถานะเหมือนองค์กรอิสระ ทั้งที่ตามเจตนารมณ์ กกพ. เกิดขึ้นเนื่องจากในเวลานั้นคาดการณ์ว่าจะมีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งจะทำให้การผลิตไฟฟ้าในประเทศเป็นของเอกชนหมด จึงมีการออกกฎหมาย กกพ. ขึ้นมา ซึ่งถ้าดูในบทเฉพาะกาลจะเห็นว่า กฟผ. และ กฟน. จะต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการ ซึ่งไม่สมเหตุสมผล แต่เพราะในเวลานั้นมีความเข้าใจว่าจะมีการแปรรูป และกฎหมายนี้ก็มีการใช้มาตลอด 18 ปีตั้งแต่ปี 2550 ขณะเดียวกัน กพช. เป็นหน่วยงานนโยบาย เวลามีปัญหาอะไรก็โยนไป กกพ. เวลาปฏิบัติแล้วก็ไม่มีอะไรมารายงาน ไม่มีกฎหมายกำหนดบังคับ นี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหา
นายพีระพันธุ์กล่าวต่อไปว่าถ้าจะช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าหรือพลังงาน ไม่ใช่แค่การแก้การประมูลงาน แต่ต้องแก้ตั้งแต่กฎหมายที่เป็นตัวกำหนดและกำกับการทำงานของทุกหน่วยงาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจอะไรในกฎหมายใดเลย และจากบทเฉพาะกาลในกฎหมาย กกพ. ทำให้ กฟผ. ต้องเป็นผู้รับอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐแท้ๆ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังหาทางแก้ไขปัญหาอยู่ในขณะนี้
ส่วนโครงการที่มีการเปิดประมูลไปสองรอบนั้น ทั้งสองโครงการตนและนายกรัฐมนตรีไม่เคยเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น แต่ก็ปฏิเสธที่จะไม่ทำอะไรไม่ได้ ตนไม่เอาด้วยกับอะไรที่ไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ตนและคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมาพบในขณะนี้คือความสับสนเรื่องกฎหมายและอำนาจหน้าที่ คณะที่ได้รับแต่งตั้งยังไม่ทราบรายละเอียดเลยเพราะเขายังไม่ให้ แต่เราก็ไม่สนใจ ไม่ให้ก็คือว่าชี้แจงไม่ได้ แต่กฎหมาย กกพ. ก็มีการกำหนดระเบียบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างไฟฟ้าเป็นการเฉพาะเป็นของตัวเอง มีอำนาจออกกฎเกณฑ์กติกาเป็นครั้งๆ โดยไม่อิงกับระเบียบกลางได้ ซึ่งตนก็ไม่เคยเจอและขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้คณะกรรมการก็กำลังดูกฎหมายอื่นที่เป็นกฎหมายกลางประกอบด้วย เช่น กฎหมายป้องกันการสมยอมในการเสนอราคา หากมีลักษณะเช่นนั้นก็ทำไม่ได้ ถ้าพบสิ่งที่ผิดปกติก็จะเป็นเหตุให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกหรือดำเนินการอย่างอื่นให้ถูกต้องต่อไป
นายพีระพันธุ์กล่าวต่อไปว่าในส่วนของ 5,200 เมกะวัตต์ ทั้งหมดมี 175 โครงการ แบ่งเป็นของ กฟผ. 94 โครงการ ลงนามสัญญาไปแล้ว 84 โครงการ เหลือประมาณ 19 ราย ซึ่งตนก็มีความกังวล แต่จากการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พบว่ามีความแตกต่างจากโครงการที่ตนสั่งชะลอไปแล้ว 3,600 เมกะวัตต์ เพราะกรณี 5,200 เมกะวัตต์มีการลงนามสัญญาไปแล้วในส่วนของ กฟผ. 84 โครงการ จะทำให้เกิดปัญหาถ้าไปสั่งชะลอแบบเดียวกัน แต่หากตรวจพบขึ้นมาเมื่อไหร่ว่ามีความผิดปกติ ก็จะมีการหาช่องทางดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนที่เหลือตนได้แจ้งไปทาง กฟผ. แล้วว่าสัญญาต่างๆ ที่จะต้องลงนามต่อไปนี้ หากตรวจพบว่าโครงการใดไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย ต้องมีเงื่อนไขในสัญญาให้ กฟผ. มีสิทธิยกเลิกได้ ดังนั้น ในส่วนของ 5,200 เมกะวัตต์ หากมีการตรวจพบก็จะมีการช่องทางตามกฎหมายเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ในส่วนของศุภโชติได้ถามกระทู้ต่อในรอบที่สองว่า การระบุว่าโครงการรับซื้อ 5,200 เมกะวัตต์ไม่เหมือนรอบ 3,600 เมกะวัตต์นั้นตนไม่เห็นด้วยเสียทีเดียว ปัญหามีลักษณะเดียวกันคือการกำหนดนโยบายในส่วนเดียวกัน อัตราการรับซื้อก็เป็นอัตราเดียวกัน หากยกเลิกโครงการหนึ่งได้แต่ยกเลิกอีกโครงการหนึ่งไม่ได้ ตนเห็นว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเกินไป
ทั้งนี้ ตนไม่ได้เห็นว่าต้องมีการยกเลิกทั้งหมดทีเดียว กลุ่มที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญาควรจะใช้มาตรฐานเดียวกับกลุ่ม 3,600 เมกะวัตต์ด้วยซ้ำ ส่วนกลุ่มที่มีการลงนามไปแล้วใช้อีกวิธีการหนึ่งได้ แต่อย่างน้อยต้องมีการออกมติมาให้ชะลอก่อน รัฐมนตรีในฐานะรองประธาน กพช. ก็เป็นเลขานุการ สามารถชงวาระเข้าที่ประชุม กพช. ได้เลย แต่จนถึงวันนี้รัฐมนตรีก็ยังไม่ทำ
นายศุภโชติกล่าวต่อไปว่าตนจึงมีคำถามเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งได้มีการสั่งชะลอและมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาแล้ว ถ้าดูกระบวนการตามกฎหมาย การรับซื้อไฟฟ้าในรอบใดก็ตามอาจไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมายเลย ทำตามกฎหมายทุกอย่าง แต่ที่จะผิดคือการที่รัฐมนตรียอมให้มีการเอื้อกำไรให้กลุ่มทุนพลังงานมากเกินไป ประชาชนแบกรับต้นทุนไฟฟ้าตรงนี้ไปแล้ว 1 แสนล้านบาทจากโครงการ 5,200 เมกะวัตต์ และกำลังจะต้องแบกรับอีก1 แสนล้านบาทจากโครงการ 3,600 เมกะวัตต์
ตนจึงกังวลว่าคณะกรรมการที่รัฐมนตรีตั้งขึ้นมา เมื่อไปตรวจสอบแล้วสุดท้ายอาจจะไม่มีความผิดตามกฎหมายเลย ยิ่งเมื่อไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเฟสแรก จะปล่อยให้เรื่องนี้เงียบแล้วค่อยมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ คำถามคือรัฐมนตรีจะเอาย่างไร จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์นี้
ในส่วนของนายพีระพันธุ์ ระบุว่าที่ตนยืนยันว่าแตกต่างกันเพราะในส่วนของ 5,200 เมกะวัตต์มีการลงนามสัญญาไปแล้ว 84 โครงการ แต่ในส่วน 3,600 เมมกกะวัตต์ยังไม่มีการลงนามแม้แต่สัญญาเดียว เป็นเหตุที่ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ไม่ใช่ว่าเนื้อหาต่างกัน แต่กระบวนการที่ทำงานไปแล้วมีความแตกต่างกัน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็กำลังตรวจสอบว่าเงื่อนไขราคาทำไมไม่เปลี่ยนแปลง และตนยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าทำไมไม่กำหนดเงื่อนไขใหม่ แต่สิ่งที่ได้รับคำชี้แจงคือเป็นการขยายจากโครงการเดิมจึงต้องใช้ราคาเดิม ซึ่งตนไม่เห็นด้วย และคณะกรรมการที่กำลังพิจารณาอยู่ก็ไม่เห็นด้วย อีกทั้งตนกำลังตรวจสอบต่อไปว่ามีลักษณะเป็นการผิดกฎหมายฮั้วประมูลด้วยหรือไม่ ไม่ได้มีแค่เรื่องราคาที่เป็นที่โต้เถียงกัน ที่ กกพ. ยืนยันว่าถูกต้อง
นายพีระพันธุ์กล่าวต่อไปว่าการทำงานไม่สามารถเนรมิตได้อย่างใจในทางปฏิบัติ แต่ตนขอเรียนว่านายกฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ถ้าตรวจพบจุดไหนที่มีสิ่งที่ไม่ถูกต้องตนจะไม่ละเว้นเด็ดขาด แต่การบอกว่าผิดหรือถูกนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตนอย่างเดียว ตนถึงบอกว่าตนอึดอัด รมว.พลังงาน ไม่มีอำนาจอะไรเลย นี่จึงเป็นเหตุที่ตนกำลังเร่งแก้กฎหมายเกี่ยวกับไฟฟ้าอยู่
นายศุภโชติถามกระทู้ต่อเป็นรอบสุดท้าย โดยระบุว่าตนอุ่นใจจากการชี้แจงของรัฐมนตรีที่ว่าหากพบข้อบกพร่องจะสามารถย้อนกลับไปยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ แต่ตนขอฝากว่าเราจะไม่สามารถลดปัญหาเรื่องค่าไฟได้เลยถ้ายังมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานในอัตราที่ยังแพงอยู่
สุดท้ายตนจึงอยากถามถึงรัฐมนตรีกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาบอร์ด กกพ. 7 ราย ซึ่ง 4 จาก 7 คนกำลังจะครบวาระในเดือนพฤษภาคมนี้ ทำให้ต้องมีการสรรหาบอร์ด กกพ. ชุดใหม่ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา 8 คน และมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลว่ามีส่วนได้เสียในภาคพลังงานหรือไม่ ไม่น่าเชื่อว่าเกินกว่าครึ่งมีการถือหุ้นหรือเคยดำรงตำแนห่งในบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศทั้งสิ้น ตนจึงมีความกังวลทั้งในเรื่องของธรรมาภิบาลในการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาชุดนี้ ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคณะกรรมการสรรหาจะสามาารถสรรหาบุคลที่เหมาะสมเข้ามาดำรงตำแหน่ง ทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ทำงานเพื่อนายทุนกลุ่มใดได้ แม้ตนเข้าใจดีว่ารัฐมนตรีได้มีการส่งหนังสือให้มีการชะลอกระบวนการสรรหาไปแล้ว แต่รัฐมนตรีก็ต้องขี้แจงว่าจะเอาอย่างไรต่อ
นายศุภโชติกล่าวต่อไปว่านอกจากนี้ตนยังมีความกังวลว่ากระบวนการสรรหาบอร์ด กกพ. ชุดใหม่จะดำเนินการไม่ทัน ถ้าเลยเดือนพฤษภาคมไปจะไม่ครบองค์ประชุม ไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ ซึ่งตามกฎหมายมีการกำหนดไว้ว่ารัฐมนตรีเองสามารถเข้าไปเป็นองค์ประชุมในบอร์ด กกพ. ได้ หมายความว่ารัฐมนตรีสามารถสั่งชะลอเพื่อหยุดการแทรกแซงจากกลุ่มทุนพลังงานได้ แต่ท่านกำลังจะเอาตัวเองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานองค์กรอิสระใช่หรือไม่
ในส่วนของพีระพันธุ์ ระบุว่าคณะกรรมการสรรหาที่กล่าวถึงตอนนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว เพราะการดำเนินการต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด ตามกฎหมายกำหนดให้มี 9 คน แต่เพราะ 1 ใน 9 ต้องมาจากหน่วยงานหนึ่งซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว และตอนที่เสนอตั้งก็ยังไม่มีการยืนยันมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นอกจากนี้ 2 ใน 9 คนจะต้องตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่รัฐมนตรีกำหนดระเบียบครั้งสุดท้ายคือเมื่อปี 2553 ปรากฏว่าในส่วนที่เป็นกรรมการสรรหาที่ต้องมาจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนสภาพไปแล้ว หน่วยงานที่กำหนดไว้ในระเบียบจึงไม่มีตัวตน จึงเท่ากับว่าการกำหนดตัวมานั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันตนจึงกำลังดำเนินการยกร่างระเบียบนี้ขึ้นมาใหม่ ขณะนี้กำลังดำเนินการให้สอดคล้องกับคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ จะพยายามเร่งให้เสร็จภายในเดือนนี้เพื่อดำเนินการตั้งคณะกรรมการสรรหาต่อไป