สธ.แนะประชาชนกลุ่มเปราะบางกักตัวที่บ้าน

กรมอนามัย แนะกลุ่มเปราะบางกักตัวใน HI ปฏิบัติตามคำแนะนำเคร่งครัด ลดเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19

ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “กลุ่มเปราะบางดูแลตัวเองให้ปลอดภัย ใน Home Isolation”

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หลังเทศกาลปีใหม่เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อใหม่ในทุกกลุ่มอายุ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกสัปดาห์ แม้สัดส่วนของผู้สูงอายุในการติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้สูงมากนัก ประมาณร้อยละ 6 ถึง 11 แต่มีข้อมูลสนับสนุนตั้งแต่ 1 – 20 มกราคม 2565 พบว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19ของประเทศไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 75 เป็นผู้สูงอายุ และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 มีประวัติเสี่ยงมาจากผู้สัมผัสใกล้ชิด ส่วนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์นั้น หลังปีใหม่แนวโน้มการติดเชื้ออยู่ในระดับทรงตัว และพบการเสียชีวิตเป็นระยะ ๆ ดังนั้น กลุ่มเปราะบางยังคงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังอย่างสูง เพราะมีโอกาสติดเชื้อจากคนใกล้ชิด และเมื่อติดเชื้อแล้ว มีความเสี่ยงที่ทำให้มีอาการหนัก หรือรุนแรงมากกว่ากลุ่มทั่วไปได้ ซึ่งกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะอ้วน อายุมาก และมีโรคประจำตัว ขณะที่ในเด็ก คือ เด็กเล็ก และยังไม่ได้รับวัคซีน ส่วนผู้สูงอายุนั้น ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อจาก คนใกล้ชิด คนรู้จัก และครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีความรุนแรงสูงเมื่อมีการติดเชื้อ
“สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK คือ 1) พักอาศัยหรืออยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 2) สัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด เช่น ที่ทำงาน โรงเรียน สถานประกอบการ 3) สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอ ลิ้นไม่รับรส ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ หายใจหอบ หายใจลำบาก และ 4) มีประวัติเดินทางไปสถานที่ที่อยู่ในไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ หรือในสถานที่เสี่ยง เช่น มีผู้คนแออัด เป็นพื้นที่ปิด มีระบบระบายอากาศไม่ดี และเมื่อมีความเสี่ยงให้ตรวจ ATK ด้วยตนเอง หรือที่หน่วยบริการทันที หากได้ผลลบ สามารถดูแลตัวเองตามหลักการป้องกันตนเองเข้มขั้นสูงสุด หรือ UP (Universal Prevention) ได้ แต่หากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ควรกักตัว และเฝ้าระวังด้วยการตรวจ ATK ตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่หากผลตรวจ ATK เป็นบวก ให้ติดต่อ สปสช.โทร 1330 กด 14 หรือทางไลน์แอด @nhso ทั้งนี้ หากมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือมีอาการหายใจเร็วติดขัด หรือมีออกซิเจนปลายนิ้วมือน้อยกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ จะเข้าเกณฑ์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในกรณีไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถรับการดูแลรักษาที่บ้าน Home Isolation (HI) หรือที่จุดบริการในชุมชน Community Isolation (CI) ได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อเป็น Home Isolation (HI) ขอให้ปฏิบัติดังนี้ 1) จัดห้องพักให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดเข้าถึง 2) หากมีพื้นที่จำกัดให้ทำฉากกั้นระหว่างผู้ที่ต้องถูกแยกกักตัว และคนอื่น ๆ ในครอบครัว 3) แยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม 4) แยกส่วนหรือพื้นที่เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร 5) เสื้อผ้า ให้ซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้าในน้ำอุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 25 นาที ผึ่งแดดให้แห้ง และ 6) เตรียมถังขยะส่วนตัวที่มีฝาปิดมิดชิด และของใช้ส่วนตัวทั้งในบริเวณที่นอนและห้องน้ำ สำหรับผู้ที่แยกกักตัวที่เป็นกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ควรแยกกักตัวเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วยหรือตรวจพบเชื้อ และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด อาทิ งดเยี่ยมระหว่าง แยกกักตัว รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงกินอาหารร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ เป็นต้น นอกจากนี้ ถ้ามีห้องนอนห้องเดียวแต่ต้องนอนรวมกับคนในบ้านต้องเปิดประตูหน้าต่างให้โล่ง หรือใช้ฉากผ้าม่านกั้นระหว่างกัน พยายามอยู่ห่างจากคนในครอบครัวให้มากที่สุด “ทั้งนี้ ให้วัดไข้ทุกวัน หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว ได้น้อยกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่าปกติอยู่ที่ 96 – 100 เปอร์เซ็นต์ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที แต่ในกรณีที่แยกกักตัวในคอนโดนิเนียมหรือแฟลต เจ้าของหรือนิติบุคคล ควรมีช่องทางประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนพนักงาน ผู้พักอาศัย และผู้มาเยี่ยม เช่น การเว้นระยะห่าง การล้างมือ และการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกวิธี รวมถีงแนวทางการปฏิบัติตัวให้กับผู้อยู่อาศัย และควรมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสถานประกอบการในการโทรแจ้งและติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อดำเนินการควบคุมโรค ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
