เพื่อไทย ตั้ง คณะกรรมการการเมือง เฟ้นหานัก ปชต.
“เพื่อไทย” มีมติตั้ง คณะกรรมการการเมือง “ชัยเกษม” เป็นประธาน เพื่อกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์ของพรรค ติดตามสถานการณ์การเมืองทันท่วงที
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ประชุมพรรคเพื่อไทย นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค , นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค , นายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรค , ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย , นายชัยเกษม นิติศิริ ประธานคณะกรรมการการเมือง พรรคเพื่อไทย รวมทั้งที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานชุดต่างๆ มีมติตั้งคณะกรรมการการเมือง พรรคเพื่อไทย โดยมีนายชัยเกษม นิติศิริ เป็นประธาน , นายเสนาะ เทียนทอง พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นที่ปรึกษา เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานด้านการเมืองของพรรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และให้ทันต่อท่าทีทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล
นายสมพงษ์ กล่าวว่า นอกจากจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการการเมืองฯ แล้วยังมีตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่เลือกตั้ง เพื่อค้นหานักประชาธิปไตยและนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้สำเร็จภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อให้ตอบสนองต่อจำนวนสมาชิกพรรคที่สมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน ขณะที่พรรคเตรียมขยายเขตเลือกตั้ง จาก 250 เขต เป็น 350 เขต โดยจะตั้งหน่วยงานอบรมหรือเสนอบุคลากรที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย
นายสมพงษ์ กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้พิจารณาแล้วมีมติว่า จะไม่ส่งบุคคลเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ตามที่สภาผู้แทนราษฎรส่งหนังสือขอความร่วมมือมา เพราะดูจากองค์ประกอบแล้ว ยังไม่มีความเป็นกลาง และผู้ขัดแย้งในบางกลุ่มยังปฏิเสธไม่เข้าร่วม หากผู้ขัดแย้งไม่ได้มีส่วนร่วม ปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงไม่ขอเข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎร
ด้าน นายประเสริฐ กล่าวว่า ในส่วนของการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร มีประเด็นหลักๆ 4 เรื่อง ดังนี้ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 พรรคเพื่อไทยได้แปรญัตติในประเด็นสำคัญหลายประเด็น เชื่อว่าตรงต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งเราไม่ละเลยในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน 2. การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งมีการประชุมนัดแรกไปเมื่อวานนี้ (3 ธันวาคม 2563) มีการกำหนดกรอบการทำงาน และรายละเอียดต่างๆ พร้อมข้อคิดเห็น ซึ่งเราจะมีการประเมินสถานการณ์ของการทำประชามติโดยตลอด เพื่อไม่ให้การทำประชามติในครั้งนี้ เป็นเหมือนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ 3. พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติไม่เข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ และ 4. สถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาศัยอยู่บ้านหลวง
คณะทำงานของพรรคเพื่อไทย มีข้อสังเกต 2 เรื่อง คือ ระเบียบของกองทัพบกว่าด้วยบ้านพักรับรองนั้น มีความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และบ้านพักรับรองของ ผบ.ทบ. จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ บ้านพักรับรองนั้นจะมีที่มาที่ไปอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการใช้ในภายหลังหรือไม่ และ ผบ.ทบ. ที่เกษียณไปแล้ว บ้านพักรับรองต้องมีหลายหลังหรือไม่ เพราะมีสิทธิ์อยู่ ซึ่งในเรื่องนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ ส.ส. ของพรรคติดตามในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไป