สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 4 พ.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.นครสวรรค์ (77 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครราชสีมา (136 มม.) ภาคกลาง : จ.ลพบุรี (76 มม.) ภาคตะวันออก : จ.นครนายก (113 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (51 มม.) ภาคใต้ : จ.ภูเก็ต (160 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน เนื่องจากมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน สำหรับภาคใต้ มีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 5 – 9 พ.ค. 68 ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้นและมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากความกดอากาศต่ำจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน สำหรับภาคใต้จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนผ่านอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน จะทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนกลางและตอนล่างของภาค
2. คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก :
น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
3. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 56% ของความจุเก็บกัก (45,482 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 37% (21,271 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด จำนวน 1 แห่ง ดังนี้ ภาคเหนือ : อ่างเก็บน้ำแม่จาง
สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที
4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (3 พ.ค. 68). นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและปัญหาภัยแล้งของจังหวัดนครราชสีมา ณ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง และเป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
ในการนี้ เลขาธิการ สทนช. ได้รายงานสถานการณ์น้ำ การขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ของจังหวัดนครราชสีมา โดยรองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
(1) ให้ สทนช. ประสานจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เตรียมแผนป้องกันสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่เปราะบางทั้งอุทกภัยและภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง และเมื่อเกิดเหตุต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2568
(2) ให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน และลำแชะ โดยวางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอกับความต้องการ และให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก
(3) ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคองที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญ
(4) ให้จังหวัดนครราชสีมา กรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งซ่อมแซมหรือปรับปรุงแหล่งน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบให้สามารถเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ รวมถึงประชาสัมพันธ์ข้อมูลการบริหารจัดการน้ำและแจ้งเตือนภัยด้านน้ำให้ประชาชนทราบ เพื่อลดผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย และมีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น
(5) ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลและจัดทำแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีความจำเป็น เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 พ.ค. 68