ต่างชาติหวนซื้อพันธบัตร 3.1 หมื่นล้านบาท

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือนที่ 33.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ แรงหนุนสำคัญยังมาจากการพุ่งขึ้นของราคาทองคำตลาดโลก เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง (หลังตลาดในประเทศกลับมาเปิดทำการหลังจากหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์)
สอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินหยวนและเงินเอเชียอีกหลายสกุล สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่เผชิญแรงเทขายท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติม จากการทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ตลาดพันธบัตรไทย
โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือนที่ 33.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ลดช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาบางส่วนตามแรงขายเพื่อปรับโพสิชันและจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำในเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือน ก่อนอ่อนค่ากลับมาบางส่วน
ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน โดยมีแรงหนุนจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด และจากถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดที่ส่งสัญญาณไม่รีบปรับดอกเบี้ยเพราะต้องการรอดูผลกระทบจากภาษีการค้าต่อสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ให้ชัดเจน
ในวันศุกร์ที่ 18 เม.ย. 2568 เงินบาทกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ 33.43บาทต่อดอลลาร์ฯ (หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือนที่ 33.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์) เทียบกับระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 เม.ย.)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 16-18 เม.ย. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 904 ล้านบาท แต่อยู่ในฝั่งซื้อสุทธิพันธบัตรไทยถึง 31,141 ล้านบาท
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 21-25 เม.ย. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.00-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯสถานการณ์ของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน
ราคาทองคำในตลาดโลก สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) ดัชนีความเชื่อมั่นและการคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือนเม.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค.
รายงาน Beige Book ของเฟด และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของ PBOC ผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนเม.ย. ของญี่ปุ่นยูโรโซนและอังกฤษด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : SCB มองเงินบาทไม่เปลี่ยนแปลง แม้กนง.ลดดอกเบี้ย