ม.ธรรมศาสตร์ ชี้ จีดีพีไทยเสี่ยงโตไม่ถึง 2%

นักวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากสงครามการค้าโลก เสี่ยง GDP ปีนี้โตไม่ถึง 2%แนะรัฐตั้งเกมรุก รับแรงสั่นสะเทือนภูมิรัฐศาสตร์ข้ามขั้ว เร่งขยายตลาดใหม่ ลดพึ่งพาสหรัฐ ปรับแผนดึงดูดการลงทุนเพิ่มในไทย
นางจุฑาทิพย์ จงวนิชย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เปิดเผยว่า สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก กำลังเข้าสู่ภาวะที่เปราะบางและซับซ้อนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะภายใต้แนวนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่แสดงจุดยืนชัดเจนต่อการ “เปิดฉากสงครามการค้าแบบไร้พรมแดน” แบบไม่เลือกประเทศหรือภูมิภาคใด จากที่เคยประกาศนโยบายการเก็บภาษีตอบโต้ รอบแรกที่เก็บจากแคนาดา เม็กซิโก จีน และผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น เหล็กและอลูมิเนียม รถยนต์ และอาจลุกลามไปถึงอุตสาหกรรมยา และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกลยุทธ์ขึ้นภาษีนำเข้าทั่วโลกครั้งใหม่ กลายเป็นแรงสั่นสะเทือนเชิงโครงสร้างที่ทั่วโลกต้องจับตา
สำหรับประเทศไทย ผลกระทบได้เริ่มชัดเจนมากขึ้น เมื่อมาตรการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่สหรัฐฯ ประกาศใช้ มีอัตราสูงถึง 36% ซึ่งนับเป็นระดับตัวเลขที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การค้า โดยเฉพาะกับสินค้าส่งออกหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และสินค้าเกษตรสำคัญ อย่างข้าว จำเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
“เบื้องหลังท่าทีดังกล่าวของทรัมป์ คือ เป้าหมายหลักในการกระตุ้นการจ้างงานในอุตสาหกรรมสหรัฐฯ โดยพยายามผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ลดการเกินดุลการค้ากับอเมริกา และหันมานำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันโดยตรงต่อไทย ทั้งในด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และการจัดสมดุลภายในประเทศที่ยังอิงการส่งออกเป็นหลัก” นางจุฑาทิพย์ กล่าว
ดังนั้น เพื่อรับมือกับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและการค้าในระดับโลกนี้ ไทยจำเป็นต้องมีการปรับยุทธศาสตร์เชิงรุกอย่างจริงจังใหม่ในระดับมหภาค โดยมีแนวทางสำคัญ ได้แก่
1. การเตรียมการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ พร้อมกับเปิดนำเข้าสินค้าที่ประเทศไทยจำเป็น และสหรัฐฯ ต้องการส่งออก อาทิ สินค้าเกษตรบางประเภทที่มีโควต้า อาวุธ เครื่องดื่ม โดยพยายามให้เกิดความสูญเสียกับภาคการผลิตในประเทศน้อยที่สุด
2. การผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณ และใช้นโยบายการคลังที่แม่นยำ เพื่อประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการเตรียมงบประมาณเพื่อประคองผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
3. เสริมสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็ง ทั้งในด้านการกระตุ้นการลงทุน การกระจายตลาด และการเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลลดต้นทุนการผลิตและการส่งออก
4. การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายในอาเซียนและพันธมิตร FTA (เขตการค้าเสรี) เพื่อกระจายสินค้าและเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีโลก
นางจุฑาทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในแนวทางสำคัญ คือ การขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดิม โดยเฉพาะสหรัฐฯ พร้อมเร่งเดินหน้าเจรจา FTA กับประเทศพันธมิตรให้มากขึ้น และใช้กรอบความร่วมมือระดับอาเซียน เช่น อาเซียน+3 หรือ +6 รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้มีประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ในการช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับไทยในเวทีการค้าระดับโลก และป้องกันความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจควบคุมได้
อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตา คือ เมื่อจีนได้รับผลกระทบจากภาษีที่สูงกว่าประเทศอื่นถึง 54% ทำให้จีนเร่งกระจายสินค้าเข้ามายังภูมิภาค รวมถึงไทย ในฐานะตลาดเป้าหมายสำคัญ ซึ่งหากไม่มีมาตรการควบคุมที่รัดกุม อาจเกิดภาวะ “สินค้าไหลทะลัก” ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยโดยตรง ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเดินหน้าทำการเจรจา ควบคู่ไปกับการคัดกรองการนำเข้าสินค้าอย่างเป็นระบบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างรอบด้าน
ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งกระจายการส่งออกให้กว้างขวาง และหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการค้นหาตลาดใหม่ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากตลาดเดิม ที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ โดยกระทรวงพาณิชย์ ควรเร่งรัดการประสานความร่วมมือกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเดินหน้าใช้ข้อตกลงการค้าเดิม และทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าใหม่อย่างมีประสิทธิผลให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเปิดประตูการค้าใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของเศรษฐกิจโลก
อีกหนึ่งหัวใจสำคัญ คือ การทำให้ข้อตกลงการค้าเสรีเดิม หรือกับคู่ค้าใหม่ ถูกใช้อย่างมีประสิทธิผล การลดความซ้ำซ้อนของการตรวจสอบของสินค้าในวงกว้างผ่านการทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement หรือ MRA) การลดความสลับซับซ้อนของกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และการเดินหน้าข้อตกลงที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัล ก็จะช่วยให้กระบวนการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เป็นไปอย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น
นางจุฑาทิพย์ กล่าวต่อว่า ในด้านการลงทุนนั้น ถึงแม้เม็ดเงินทุนจากต่างชาติคงมีแนวโน้มชะลอตัว จากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมือง ประเทศไทยควรเตรียมตัวต่อเนื่องให้พร้อม เพื่อเป็น “จุดหมายปลายทาง” สำหรับนักลงทุนที่ต้องการความปลอดภัยและเสถียรภาพทางธุรกิจ พร้อมต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนผ่านการดำเนินนโยบายที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาในการพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนา 3 เสาหลักไปพร้อมกัน นั่นคือ 1.เกษตรและอาหาร 2.อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และ 3.ภาคบริการ พร้อมกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ทั้งการขนส่ง พลังงาน และดิจิทัล อันเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้พิจารณาในการเลือกฐานผลิต
ซึ่งในช่วงความไม่แน่นอนเช่นนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน น่าจะมีส่วนช่วยในการลดแรงสะเทือนจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวได้ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตเหล็กหรืออะลูมิเนียม ขณะเดียวกัน ประเทศไทยควรเร่งใช้แนวทาง “One Stop Service” ที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดตั้งขึ้นให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนประหยัดเวลาและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งผลักดันผู้ประกอบการไทยให้เชื่อมโยงตัวเองเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของบรรษัทข้ามชาติ (MNEs) เพื่อเตรียมพร้อมทำให้ประเทศกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการผลิตในระดับภูมิภาค
สุดท้าย ในภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จากแรงสั่นสะเทือนของสงครามการค้าระดับโลกนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อสร้างแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยให้มี “สายป่าน” ที่ยาวพอในการรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น รัฐบาลควรเตรียมมาตรการด้านการใช้จ่ายอย่างมีเป้าหมาย เช่น การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนเฉพาะด้านในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบ และที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศดำเนินการไปแล้ว อย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้จัดตั้งกองทุนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์
ทั้งนี้ ประเทศไทยควรมีการพิจารณานำแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัว และยืนหยัดท่ามกลางแรงปะทะทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่อาจคาดการณ์ได้
แม้ทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง โดย เฉพาะในกรณีที่ฐานการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ โดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา และสินค้าบางกลุ่มอาจต้องชะลอตัว หากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาด้านการค้าอย่างเป็นรูปธรรม อาจส่งผลกระทบให้ GDP ของไทยในปีนี้ลดลงต่ำกว่า 2.0% ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจน
“ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เร่งกระจายตลาด และเตรียมพร้อมเจรจานโยบายการค้ากับประเทศคู่ค้ารวมถึงสหรัฐฯ อย่างจริงจัง เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ และประชาชน รวมถึงการพยายามเดินหน้าต่อเนื่องเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อน 3 เสาหลัก และอุตสาหกรรมเป้าหมาย การปรับตัว และการวางรากฐานเชิงนโยบายอย่างรอบด้าน จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถพลิกเกมเศรษฐกิจไทยสู่โฉมใหม่ที่แข่งขันได้ในระดับโลก ภายใต้ยุคพลวัตที่ไร้เสถียรภาพแห่งนี้” นางจุฑาทิพย์ ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กสิกรไทย คาด สหรัฐฯขึ้นภาษีไทย 37% จีดีพีหายไป 1%