บก.ชวนคุย วันที่ 25 ก.พ.2568

บก.ชวนคุย เรื่องที่ 4,391 แอพเงินกู้แหล่งทุนยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และความท้าทายทางการงาน การเงิน คนไทยมากกว่า 10 ล้านคน ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ใช้วิธีเดิมๆ ในการปล่อยกู้ นอกเหนือไป จากการมีรายได้ประจำแล้ว ยังต้องมีบุคคลค้ำ หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ อีกด้วย
ส่วนประชาชนที่ไม่มีรายได้ประจำ หรือไม่มีความพร้อมทางด้านการเงิน คนเหล่านั้น ต้องหันมาใช้บริการเงินกู้นอกระบบ ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อาทิ อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด มีการทวงหนี้ที่ใช้กำลังอย่างรุนแรง หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ท้วงหนี้โหด” นำมา ซึ่งปัญหาสังคมต่างๆ ที่สำคัญที่สุดคือ
“ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ไม่มีหน่วยราชการใดเข้ามารับผิดชอบหรือ กำกับดูแลหนี้นอกระบบเหล่านี้”
ดังนั้น ในช่วงไม่กี่ปี ที่ผ่านมา แอพพลิเคชั่นเงินกู้ออนไลน์ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย จึงกลายเป็นทางเลือกสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือขับเคลื่อนธุรกิจของตนได้ จึงมีความมั่นใจอย่างมากว่า คนที่ต้องการเงินกู้เร่งด่วน เช่น หลักพัน หรือไม่กี่พันบาท ที่มีความขัดสนในเรื่องการเงินนั้น พวกเขาเหล่านี้ พร้อมอย่างมากที่จะกู้เงินผ่าน แอพฯ ซึ่งไม่ใช่การเดินไปหาสถาบันการเงินตามปกติ
อย่างไรก็ตาม แอพฯ เงินกู้ออนไลน์ในขณะนี้ มีเพียงแค่ 10 บริษัทเท่านั้นที่รับรองโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และส่วนใหญ่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ จึงเห็นได้ว่า ไม่มีความเพียงพอของจำนวน แอพฯ เมื่อรวมกับภาพของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน ที่เข้มงวดปล่อยกู้ลูกค้ารายใหม่ จนเป็นเหตุให้ยอดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งระบบปีที่แล้ว ติดลบในรอบ 15 ปี
แสดงให้เห็นแล้ว การให้บริการทางเงินเก่าๆ และรูปแบบเดิมนั้น ไม่ตอบสนองกับความต้องการของคนยุคดิจิทัล หรืออธิบายให้ง่ายไปกว่านี้ คือ เงื่อนไขการปล่อยกู้ไม่ได้ต่างกับการปล่อยกู้แบบดั้งเดิมมากนัก ส่งผลให้ผู้คนในระดับรากหญ้า ทำยังไง!! ก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอยู่ดี
ขณะที่ ในปัจจุบัน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. หน่วยงานราชการในสังกัดของกระทรวงการคลัง ได้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เรียกว่า “พิโก ไฟแนนซ์” หรือ สินเชื่อเพื่อรายย่อย ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการประชาชนที่ต้อง การกู้เงินเพื่อเติมสภาพคล่องในช่วงเวลาสั้นๆ หรือเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน วงเงินกู้คนละไม่กี่พันบาท กับการมีแค่โทรศัพท์มือถือ ก็สามารถกู้ยืมเงินได้แล้ว ทำให้มีบริษัทเอกชนให้ความสนใจ และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยกู้ผ่าน “พิโก ไฟแนนซ์”
ด้วยบริการที่รวดเร็ว สะดวกและง่าย ผ่านระบบออนไลน์ในยุคดิจิทัล จากการสำรวจในเบื้องต้น คาดว่าปัจจุบันมีผู้ใช้บริการสินเชื่อ “พิโก ไฟแนนซ์” ผ่านออนไลน์ทางโทรศัพท์หลายล้านคน โดยข้อมูลล่าสุด เมื่อ ณ สิ้นเดือนม.ค.2568 พบว่า มีประชาชนที่ใช้บริการพิโก ไฟแนนซ์ อยู่ประมาณ 4.9 ล้านบัญชี และคาดว่า ในสิ้นเดือนก.พ.นี้ จะขึ้นแตะระดับ 5 ล้านบัญชีอย่างแน่นอน โดยในจำนวนนี้ พิโก ไฟแนนซ์ มียอดเงินปล่อยกู้สะสมมากกว่า 47,000 ล้านบาท และยังมีเงินกู้ คงค้างอยู่อีก 7,300 ล้านบาท
แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับ “ทุนจีนสีเทา” และ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” มิจฉาชีพหลอกเอาเงินผู้คนไปมากมายนั้น รัฐบาลกำลังตื่นตัว เร่งกวาดล้าง สิ่งที่ตามมาคือ บริษัทเงินกู้ที่ให้บริการออนไลน์ผ่าน “พิโก ไฟแนนซ์” ถูกสั่งปิดตามไปตามกันด้วย ด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงถอดออกจากระบบ Google Play store โดยอ้างว่า เนื่องจากบริษัทเหล่า ไม่ได้รับการอนุญาตจาก ธปท.
ผลที่ตามมา ทำให้เกิดการขาดแคลนแหล่งเงินกู้ที่ถูกกฎหมาย จนอาจทำให้สุดท้าย “ประชาชน” ต้องหันไปพึ่งเงินกู้หนี้นอกระบบเหมือนเดิม การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องย่ำอยู่กับที่ ประชาชนไม่เข้าถึงแหล่งเงินทุน จำใจต้องยอมรับอัตราดอกเบี้ยที่แพงลิ่วไปตลอดกาล 10% หรือ 20% ต่อเดือน
ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่ จีดีพีลดต่ำ ปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.5% และปีนี้ 2.8% ไม่ถึง 3% นั้น แน่นอนว่า รัฐบาลต้องการแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะ เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ
ดังนั้น เห็นสมควรที่รัฐบาลจะช่วยทำให้ แอพฯ เงินกู้ออนไลน์ที่ถูกกฎหมาย สามารถเปิดดำเนินการต่อไปได้ ภายใต้กรอบกฎหมายที่ชัดเจนและเป็นธรรม การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ จะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการเป็นหนี้นอกระบบได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวและลดปัญหาสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย
โดย นพวัชร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : บก.ชวนคุย วันที่ 21 ม.ค.2568