ซีไอเอ็มบี ไทย กำไรสุทธิไตรมาส 3 ทะลุ 1.8 พันล้านบาท
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิงวด 9 เดือนปี 2567 จำนวน 1,890.2 ล้านบาท
• กำไรสุทธิ 1,890.2 ล้านบาท (+8.9% YoY)
• รายได้จากการดำเนินงานจำนวน 10,785.5 ล้านบาท (+4.5% YoY)
• รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 63.4 ล้านบาท ล้านบาท (+6.8% YoY)
• รายได้อื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 506.7 ล้านบาท (+24.9% YoY)
• อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อลดลงจาก 3.3% (31 ธ.ค.66) อยู่ที่ 2.5%
รายงานข่าวจากธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,890.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 153.9 ล้านบาท หรือ 8.9%เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2566 สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 4.5% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 5.7% สุทธิกับการเพิ่มขึ้นในค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 6.5%
รายได้จากการดำเนินงาน สำหรับงวดเก้าเดือนปี 2567 มีจำนวน10,785.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 463.5 ล้านบาท หรือ 4.5% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2566 เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 63.4 ล้านบาท หรือ 6.8% ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากให้บริการชำระค่าสินค้าและบริการชำระเงิน และค่าธรรมเนียมการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน รายได้อื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 506.7 ล้านบาท หรือ 24.9% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนสุทธิกับการลดลงของกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพและกำไรสุทธิจากเงินลงทุน สุทธิกับการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 106.7 ล้านบาท หรือ 1.5% เนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเติบโตสูงกว่าการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ย
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดเก้าเดือนปี 2567 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2566 เพิ่มขึ้นจำนวน 407.1 ล้านบาทหรือ% 6.5 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย สุทธิกับการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดเก้าเดือนปี 2567 อยู่ที่ 61.7% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566 อยู่ที่ 60.6%
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดเก้าเดือนปี 2567 อยู่ที่ 2.3% ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2566 อยู่ที่ 2.6% เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น
วันที่ 30 กันยายน 2567 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 251.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 283.7 พันล้านบาท ลดลง 8.6% จากสิ้นปี 2566 ซึ่งมีจำนวน 310.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 88.7% จาก 78.9% ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 6.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 2.5% ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566 อยู่ที่ 3.3% สาเหตุเกิดจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในระหว่างงวด 2567 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567 อยู่ที่ 138.8% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 124.2% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 ก.ย. 2567 มีจำนวน 57.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 19.5% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 15.8%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ซีไอเอ็มบี ไทย – สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนมาเลเซีย ถกเข้มมุมมองการค้าและเศรษฐกิจอาเซียน