รู้จัก “Negative income tax” ภาษีแก้จน คนขยัน

รู้จัก Negative income tax (NIT) ภาษีแก้จน คนขยัน
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผุดประเด็น Negative Income Tax ขึ้นบนเวที Vision for Thailand 2024 ในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปอย่างไร ทิศทางการเมืองไทยนับต่อจากนี้” เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2567 ทำให้ Negative income tax หรือ NIT กลายเป็นที่สนใจของสังคมในวงกว้าง

กระทั่งมาถึงคําแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา 12 กันยายน 2567 มี 10 นโยบายเร่งด่วน และนโยบายระยะกลางและระยะยาว 3 ด้าน หนึ่งในนั้นคือ “รัฐบาลจะเปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้” โดยศึกษาความเป็นไปได้ ของการปฏิรูประบบภาษี ไปสู่แบบ Negative Income Tax “ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับเงินภาษีคืน เป็นขั้นบันได” ตามเกณฑ์ที่กำหนด
ทำความรู้จัก Negative income tax (NIT) เงินโอน แก้จน คนขยัน
NIT คือ ระบบภาษีที่ไม่ได้แค่จัดเก็บภาษีจากผู้มีรายได้ แต่ยังทำหน้าที่โอนเงินให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยกว่าระดับที่กำหนด
โดยพื้นฐานแล้ว เมื่อประชาชนมีรายได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนด รัฐบาลจะไม่เรียกเก็บภาษีจากผู้มีรายได้น้อย และในทางกลับกัน จะจ่ายเงินให้แทนเพื่อลดปัญหาความยากจน
แนวคิดนี้มาจากการเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน Milton Friedman ซึ่งเสนอว่ารัฐควรลดการใช้ทรัพยากรและเวลาผ่านระบบสวัสดิการที่ซับซ้อน และหันมาใช้การโอนเงินสดโดยตรงกับประชาชนแทน
จุดมุ่งหมายของ NIT
1.เป็นแรงจูงใจให้คนไทยทุกคนรายงานรายได้ของตนเอง จะทำให้ภาครัฐมีระบบข้อมูลรายได้ของคนไทยที่ครอบคลุมมากขึ้น
2.แก้จน ลดเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้อย่างตรงจุด NIT เน้นการช่วยเหลือประชากรที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำสุด โดยจะช่วยให้การโอนเงินไปยังกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้รัฐสามารถจัดการปัญหาความยากจนได้ดียิ่งขึ้น
3.ช่วยลดภาระทางการคลังที่ใช้สำหรับจัดสรรสวัสดิการ
ที่ผ่านมาระบบการจัดสวัสดิการในประเทศไทยมีความซ้ำซ้อนสูง หลายครั้งมีปัญหาในการจัดสรรสวัสดิการไปสู่ผู้ที่ไม่ได้ต้องการจริง ๆ หรือทำให้ประชาชนรอรับเงินสวัสดิการเพียงอย่างเดียวแทนที่จะพยายามหารายได้เองด้วย
แต่เนื่องจากประชาชนที่ได้รับเงินช่วยเหลือผ่านระบบ NIT จะยังคงต้องทำงาน ไม่ได้อยู่ในระบบสวัสดิการที่ให้ โดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น การใช้ NIT จึงช่วยลดภาระงบประมาณด้านสวัสดิการของภาครัฐ

หลักคิดของ NIT
1.เงินโอนต้องเพียงพอสำหรับช่วยบรรเทาปัญหาความยากจน
2.เงินโอนต้องสร้างแรงจูงใจแก่คนจนในการตัดสินใจทำงานมากขึ้น
3.เงินโอนต้องไม่สร้างภาระต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลมากเกินสมควร
กลไกของ NIT
1.รัฐบาล ระบุตัวตนคนไทยที่ยากจนและสมควรมีสิทธิได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง โดยอาจใช้เส้นความยากจนเป็นเครื่องมือ และอาจอยู่ในวัยแรงงาน อายุน้อยกว่า 60 ปี
2.กำหนดอัตราเงินโอน
3.อาจต้องออกกฏหมายหรือแก้ไขกฏหมายบางฉบับ เพื่อรองรับหลักการ NIT

Negative Income Tax จะส่งผลลัพธ์อย่างไร?
-ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อยๆ จากนโยบายต่างๆของรัฐ ประชาชนได้ผ่านการ reskill upskill อย่างที่ตลาดต้องการ
-ประชาชนจะค่อยๆ เคลื่อนตัวขึ้นมาในระดับรายได้ที่สูงขึ้น จนกระทั่งอยู่พ้นจุดที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ
จะทำให้รัฐได้มาซึ่งฐานภาษีที่เข้มแข็ง ที่จะนำไปสู่สวัสดิการที่ยั่งยืนต่อไป
นานาประเทศใช้ NIT
มีหลายประเทศที่ประยุกต์ใช้ NIT ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวม 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร อิสราเอล ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สวีเดน แคนาดา และสิงคโปร์
ข้อมูลจาก พรรคเพื่อไทย