กองถ่ายหนังต่างประเทศใช้โลเคชันไทย 466 เรื่อง
• กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น 6.6 พันล้านบาท
• สหรัฐฯ นำโด่งเข้าถ่ายทำในไทย 34 เรื่อง
• ผู้สร้างหนังชอบโลเคชัน-สิทธิ์ทางภาษี
ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำหลัก ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้สร้างภาพยนตร์ทุกประ เภททั่วโลก ทั้งโฆษณา สารคดี รายการทีวี ไปจนถึงการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องยาว โดยจากสถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยปี2566 ประเทศไทยเป็นโลเคชันถ่ายหนังต่างประเทศ 466 เรื่อง เงินลงทุนกว่า 6,600 ล้านบาท ถือเป็นสถิติจำนวนรายได้สูงสุด นับตั้งแต่มีการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากรายงานสถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยปี2566 ของกรมการท่องเที่ยว (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 66) พบว่า ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นโลเคชันในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศทั้งหมด 466 เรื่อง จาก 40 ประเทศทั่วโลก
โดยคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่เข้ามาถ่ายทำมากที่สุด จำนวนภาพยนตร์ 34 เรื่อง เงินลงทุนกว่า 3,184 ล้านบาท รองลงมา คือ คณะถ่ายทำจากฮ่องกง มีเงินลงทุนกว่า 707 ล้านบาท ตามด้วยจีน เยอรมนี และเกาหลี ตามลำดับ
ทั้งนี้ สร้างรายได้เข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศในภาพรวมกว่า 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าปี2565 ที่ผ่านมา เกือบ 2,000 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (Incentive Measure) ในรูปแบบการคืนเงินสูงสุด 20% ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศตัดสินใจเข้ามาลงทุนถ่ายทำในประเทศไทย
กองกิจการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ต่างประเทศ (TFO Thailand Film Office) ได้จัดอันดับ 5 จังหวัดของประเทศไทย ที่ผู้สร้างภาพยนตร์จากทั่วโลก นิยมใช้เป็นโลเคชันหลักในการถ่ายทำ ดังนี้
อันดับที่ 1 กรุงเทพฯ จำนวน 282 เรื่อง อาทิ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นต้น
อันดับที่ 2 ชลบุรี จำนวน 77 เรื่อง อาทิ ถนนเลียบชาดหายพัทยา เกาะล้าน เกาะสีชัง เป็นต้น
อันดับที่ 3 สมุทรปราการ จำนวน 60 เรื่อง อาทิ เมืองโบราณ The Studio Park ท่าเรือศุภนาวา เป็นต้น
อันดับที่ 4 ปทุมธานี จำนวน 52 เรื่อง อาทิ ACTS Studio มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น
อันดับที่ 5 ภูเก็ต จำนวน 47 เรื่อง อาทิ หาดพาราไดซ์ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี เป็นต้น
นอกจากมาตรการส่งเสริมแรงจูงใจแล้ว คณะถ่ายทำต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งตอกย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทย ในการเป็นโลเคชันถ่ายทำภาพยนตร์ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้สร้างหนังได้เป็นอย่างดี
โดยสามารถกระจายรายได้ไปสู่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เกิดการจ้างงานทีมงานไทย การเช่าสถานที่และอุปกรณ์การถ่ายทำ หรือในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร สินค้าท้องถิ่น เป็นต้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ Soft power ด้านต่างๆ ของประเทศไทยผ่านกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้ให้กับผู้ชมทั่วโลก ทำให้เกิดการท่องเที่ยวตามรอยการถ่ายทำภาพยนตร์ต่อไป