นายกฯ ลุยล้างหนี้คนไทย 10.3 ล้านคน
• ตั้ง 4 กลุ่มเจ้าปัญหาบริหารหนี้ทั้งระบบ
• ผุดเอเอ็มซีแบงก์รัฐแก้หนี้เน่าตลอดกาล
• พักหนี้รหัส 21 – เอสเอ็มอี 1 ปี คิดดอก 1%
นายกฯ แถลงใหญ่จัดการหนี้ทั้งระบบ ตั้งเป้าหมายลดหนี้ให้แก่ประชาชน 10.3 ล้านราย พร้อมแยกลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม โยนให้แบงก์รัฐอุ้ม!!
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ 2 รมช.คลัง แถลงแนวทางในการแก้ไขลูกหนี้ในระบบสถานบันการเงิน โดยได้แบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง
และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน
นายกฯ กล่าวว่า “ทุกกลุ่มมีข้อสังเกตที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนกลาย เป็นหนี้เสีย เมื่อเป็นหนี้เสียก็ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยปรับเพิ่ม และวนกลับไปทำให้ชำระไม่ไหวอีก วงจรแบบนี้ส่งผลให้ติดเครดิตบูโร ไม่สามารถขอสินเชื่อในระบบต่อได้ หรือบางรายที่ค้างชำระเป็นเวลานาน ก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย”
แม้ว่าลูกหนี้ทุกกลุ่มจะมีสภาพปัญหาคล้ายกัน แต่ต้นตอของปัญหานั้นต่างกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงเตรียมแนว ทางช่วยเหลือที่แตกต่างกันตามสาเหตุของปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1
ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มนี้ โดยปกติจะมีประวัติการชำระหนี้มาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ อีกส่วนหนึ่งบางรายเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงโควิด เพราะต้องการเงินทุนไปหมุนเวียน แต่สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้ กลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว
สำหรับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รัฐบาลกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย
ส่วนลูกหนี้ เอสเอ็มอีนั้น สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ เอสเอ็มอีที่อยู่กับแบงค์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่า จะช่วยเหลือลูกหนี้ครอบคลุมมากกว่า 99% ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย
โดยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19และเอสเอ็มอี คาดว่า จะมีมากถึง 3 ล้านราย สามารถยกเลิกสถานะหนี้ที่ไม่เกิดให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) พักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย ปรับโครงสร้างหนี้ และลดดอกเบี้ย 1% ต่อปี
กลุ่มที่ 2
ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต
กลุ่มข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรก คือการลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้
และแนวทางสุดท้าย คือบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งทั้งสามแนวทางนี้ จะต้องทำ “พร้อมกัน” ทั้งหมด
ส่วนแนวทางแก้หนี้ครู ราว 900,000 คน จะบังคับใช้กฎหมาย หักเงินเดือนไปชำระหนี้ได้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือน พร้อมจัดทำสวัสดิการเงินกู้ข้าราชการที่มีดอกเบี้ยต่ำ
สำหรับแนวทางแก้หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จากการคิดดอกเบี้ยสูงทำให้เป็นหนี้ค้างชำระ
ปรับโครงสร้างหนี้ ผ่าน “คลีนิกแก้หนี้” ผ่อนได้นาน 10 ปี โดยจะลดดอกเบี้ยเหลือ 3.5% ต่อปี จากปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สูงถึง 18% ต่อปี
กลุ่มที่ 3
กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน / ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่องเช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากรายได้ของพวกเค้า ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณผลผลิต / เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย เป็นต้น
แนวทางแก้หนี้นักเรียน (หนี้กยศ.) ราว 5 ล้านคน ปรับแผนการผ่อนชำระให้เข้ากับรายได้คนเพิ่งเริ่มงาน
ลดดอกเบี้ยให้เงินต้นลดเร็ว ถอนการอายัดบัญชีให้ลูกหนี้เข้าถึงระบบการเงินให้ผู้ค้ำประกันหลุดจากการค้ำประกัน
ส่วนแนวทางแก้หนี้เช่านั้น สคบ.ควบคุมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถใหม่ ต้องไม่เกิน 10% ลดดอกเบี้ยผิดนัด ให้ส่วนลดลูกหนี้ที่ปิดบัญชีก่อนกำหนดได้ด้วย
กลุ่มที่ 4
หนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ มาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย
แนวทางแก้หนี้ เอ็นพีแอล ตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐกับบริษัทบริหารสินทรัพย์
รับโอนหนี้เสียจากสถาบันการเงินของรัฐ
“ครั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้หลากหลายกลุ่ม มีทั้งมาตรการที่ ครม. ได้เห็นชอบไปแล้ว เช่น การพักหนี้เกษตร มาตรการที่สามารถดำเนินการขยายผลได้ทันที เช่น เรื่องหนี้ครู หนี้ข้าราชการ หนี้บัตรเครดิต หนี้เช่าซื้อรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้เริ่มเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ซึ่งหวังว่าจะมีการติดตามเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยต่อไป อย่าให้หายเงียบ ตามแนวทางที่ตนเองได้มอบไว้” นายกรัฐมนตรี กล่าวและกล่าวว่า
“ ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุในระยะเร่งด่วนเพื่อต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ทุกกลุ่ม ในระยะยาวควรมีการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง โดยยกระดับการให้บริการสินเชื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำแนวทางเพื่อยกระดับการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ ให้สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้มากขึ้น เป็นธรรม มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกินศักยภาพ”
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ทั้งในส่วนของหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่ตนเองได้แถลงนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ขณะที่ หนี้ในระบบก็มีปัญหาไม่แพ้กับหนี้นอกระบบ ทั้งหนี้สินล้นพ้นตัว จนส่งผลกระทบต่อการทำงาน บางรายเป็นหนี้เสียคงค้างเป็นเวลานานจนขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ดังนั้น การดูแลลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาจึงถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกัน
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ และนอกระบบในครั้งนี้ จะครอบคลุมหนี้ครัวเรือนของประชาชนเกือบทั้งหมด โดยตัวเลขที่นายกฯ แถลงในวันนี้ คิดเป็นมูลหนี้ 16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และครอบคลุมประชากรประมาณ 10.3 คน ที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งในส่วนนี้รวมทั้งหนี้ของสถาบันการเงิน หนี้สหกรณ์ และหนี้กองทุนเพื่อการกู้ยืม เพื่อการศึกษา (ก.ย.ศ.) ด้วย
“ส่วนปัญหาของหนี้บัตรเครดิตแม้จะมีไม่มาก แต่อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บสูงๆ นั้น คาดว่า บัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหาจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านใบ จากทั้งหมด 23 ล้านใบ ส่วนมาตรการออกมาในการแก้ปัญหานั้น หากผู้ถือบัตรเข้าร่วมโครงการลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3–5% สำหรับคนที่ไม่มีกำลังจ่ายได้” นายกิติรัตน์ กล่าว