ผู้ถือหุ้นกู้ STARK จ่อฟ้องแพ่ง Class Action
• เสนอฟ้องผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มเข้าตลาดหุ้น
• ก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 9 พันล้านบาท
• ปปง. เริ่มตรวจธุรกรรมหลายหมื่นรายการ
ผู้ถือหุ้น STARK จะร่วมตัวกันเพื่อยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ด้าน ปปง.ตรวจสอบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดมีมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท และที่ต้องตรวจสอบอีกหลายหมื่นธุรกรรมที่มมีความซับซ้อน
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษากฎหมายและผู้ประสานงานกลุ่มรวมพลังหุ้นกู้สตาร์ค เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้นกู้ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) จะฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ ไม่ใช้เฉพาะในกรณีหุ้นกู้ แต่เป็นความผิดตั้งแต่การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ STARK สร้างข่าวในการระดมทุนจนทำให้เกิดการโกงที่มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 9,000 ล้านบาท มีผู้เสียหายมากกว่า 4,000 ราย คาดว่าจะสามารถยื่นฟ้องได้ภายในปีนี้
การฟ้องนี้ คดีผู้บริโภคเพื่อสามารถเรียกค่าเสียหายได้มากกว่าการฟ้องทางแพ่ง โดยสามารถการเรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษได้ 2 เท่า และเรียกดอกเบี้ยความเสียหายได้ 5% สูงกว่าดอกเบี้ยหุ้นกู้ ซึ่งจะฟ้องทั้งผู้บริหารบริษัท ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้คำปรึกษาในการลงทุน การออกหุ้นกู้ การปลอมแปลงบัญชี
“การฟ้องคดีทางแพ่งจะสามารถฟ้องด้วยหลักการที่กว้างกว่าคดีอาญา นั่นคือหากผู้กระทำผิดมีความเกี่ยวข้อง จงใจหรือประมาททำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งไม่ได้มีปัญหาตอนออกหุ้นกู้ แต่มีการกระทำมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่การเตรียมการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ การปลอมแปลงบัญชี ส่งผลให้มีผู้เสียหายจำนวนมากมูลค่าความเสียหายกว่า 9,000 ล้านบาท ดังนั้นทุกๆ กระบวนการที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาทั้งหมด” นายวีรพัฒน์ กล่าวและกล่าวว่า
ทั้งนี้ข้อจำกัดของภาคประชาชนคือ การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานย้อนหลัง ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐมีกฎหมายจำกัดในการดำเนินการ แต่ภาคประชาชนมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลได้น้อยแต่ฟ้องได้กว้างเพื่อให้ภาครัฐนำพยานหลักฐานมาสู่กระบวนการทางศาล
สำหรับการดำเนินการฟ้องคดี อยู่ในระหว่างการรอข้อเท็จจริงสำคัญจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ DSI ที่กำลังยื่นสำนวนต่ออัยการ เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ใหญ่มากจึงจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสำนวนคดีแพ่ง หลังจาก DSI แถลง เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา จะมีการพูดคุยเพื่อประสานงานและทำงานร่วมกันด้วย
ด้านนายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กล่าวว่า คดี STARK มีการตกแต่งบัญชี ทำให้มีนักลงทุนนำเงินมาลงทุนในหุ้นกู้จากข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งจะผิดกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และกฎหมายว่าด้วยการฉ้อโกงประชาชน โดยเบื้องตัน ปปง.ได้มีการตรวจสอบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด 350 ล้านบาท ซึ่งเป็นก้อนแรกที่ ปปง.เริ่มเข้ามาดำเนินการ
ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาและบุคคลผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อตรวจสอบว่าทรัพย์สินของผู้เสียหายถูกย้ายไปที่ใดบ้าง บุคคลสุดท้ายที่รับประโยชน์ ซึ่งพบว่าทรัพย์สินของผู้เสียหายถูกนำไปทำธุรกรรมที่มีความซับซ้อน หรือนำไปชำระหนี้ทั้งที่มีอยู่จริงและไม่มีอยู่จริง พบว่ามีการทำธุรกรรมกว่าหลายหมื่นรายการในหลากหลายบัญชี ป.ป.ง.จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ โดยทรัพย์สินที่อยู่ในการพิจารณาของ ปปง.มีมูลค่าสูงมาก และปะปนกันไปหมด จึงจำเป็นต้องเลือกใช้กฎหมายหลายฉบับในการนำทรัพย์สินกลับมาเยียวยาให้กับผู้เสียหายได้
นอกจากนี้ ปปง.ได้ขอความร่วมมือผ่านการใช้ความสัมพันธ์ทางการฑูต ซึ่งมีพันธมิตรกว่า 130 ประเทศ เพื่อขอตรวจสอบทรัพย์สินในประเทศดังกล่าว แต่เนื่องจากกฎหมายในแต่ละประเทศที่ต่างกัน ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการนำทรัพย์สินดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศ แต่ในปัจจุบันพบทรัพย์สินจำนวนหนึ่งอยู่ในสิงคโปร์ กำลังหาวิธีในการทรัพย์สินจำนวนนี้กลับมาในไทยก่อน ซึ่งปปง.มีกระบวนการผ่านทั้งช่องทางการฑูตและผ่านทางอัยการสูงสุด