อย.ขึ้นทะเบียน “ยาฟาวิพิราเวียร์” ที่ผลิตในไทยแล้ว
ยาฟาวิพิราเวียร์ (ยาฟาเวียร์) รักษาโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรม ที่ผลิตเอง ได้ทะเบียนจาก อย.แล้ว เดือน ส.ค.นี้ พร้อมเริ่มกระจายให้กับผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. องค์การเภสัชกรรม เผยว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ภายใต้ชื่อ ฟาเวียร์ (200 มิลลิกรัมต่อเม็ด) ขององค์การเภสัชกรรม ที่วิจัย พัฒนาและผลิตเอง ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ต้น ส.ค.นี้ เริ่มกระจายเข้าระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยระยะแรกผลิตได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 2 ล้านเม็ด และจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวว่า ยาฟาเวียร์ (200มิลลิกรัมต่อเม็ด) มีชื่อสามัญทางยา คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ( Favipiravir ) ที่องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการ วิจัย พัฒนา และผลิตเอง ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)เรียบร้อยแล้ว โดยยาฟาเวียร์เป็นผลิตภัณฑ์ยาสามัญรายแรกของประเทศไทยมีคุณภาพมาตรฐานสากล จะเริ่มผลิตและกระจายให้ผู้ป่วยได้ใช้ในต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยในระยะแรกผลิตได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 2 ล้านเม็ด ที่โรงงานขององค์การฯที่ถนนพระราม 6 และจะขยายกำลังการผลิตไปยังโรงงานผลิตยาที่ คลอง10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตยาดังกล่าวขององค์การฯครั้งนี้ ทำให้ราคายาถูกลงกว่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ
“ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นรายการยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวทางการรักษาของประเทศไทย ซึ่งเดิมต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ปัจจุบันสถานการณ์การการระบาดโรคโควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ถึงประมาณวันละ 3 แสนเม็ดหรือเดือนละประมาณ 9 ล้านเม็ด ซึ่งองค์การฯได้มีการจัดหาเข้ามาจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และองค์การฯจะเริ่มผลิตยาฟาเวียร์คู่ขนานไปด้วย โดยองค์การฯจะได้มีการบริหารจัดการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ให้เพียงพอและสอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวต่อไปว่า องค์การฯได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาและผลิตยาฟาเวียร์ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ มาใช้ในการพัฒนาสูตรตำรับ จนขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ยาดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาความคงตัวและประสิทธิผลทางชีวสมมูล (Bioequivalence study) ซึ่งเป็นการศึกษาระดับยาในเลือดเทียบกับยาต้นแบบแล้ว โดยผลการศึกษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลและผลการศึกษาชีวสมมูลเทียบเท่ากับยาต้นแบบ
“องค์การฯต้องขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ภาคประชาสังคม และอีกหลายหน่วยงาน ที่ร่วมกันผลักดันให้การดำเนินการในครั้งนี้สำเร็จ จนส่งผลให้องค์การฯสามารถที่ผลิตยารักษาโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าว