ติดเชื้อเฉียดหมื่น ศบค.เผยต่างจังหวัด เริ่มรับไม่ไหว
ศบค.เผย ติดเชื้อใหม่ 9,317 ราย เสียชีวิต 87 คน ต่างจังหวัดเริ่มรองรับผู้ป่วยไม่ไหวแล้ว
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก วันพุธที่ 14 ก.ค. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 188,580,962 ราย เพิ่มขึ้น 510,140 ราย เสียชีวิต 4,065,340 ราย เพิ่มขึ้น 8,117 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา 34,807,813 ราย 2. อินเดีย 30,944,949 ราย 3. บราซิล 19,152,065 ราย 4. รัสเซีย 5,833,175 ราย 5. ฝรั่งเศส 5,820,849 ราย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 59 จำนวน 363,029 ราย
สถานการณ์ในประเทศ ผู้ป่วยรายใหม่ 9,317 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 363,029 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 87 ราย เสียชีวิตสะสม 2,934 ราย รักษาตัวอยู่ 99,511 ราย อาการหนัก 3,201 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 828 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงว่า ผู้เสียชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร 55 ราย ปทุมธานี 6 ราย ยะลา นราธิวาส จังหวัดละ 4 ราย ปัตตานี 2 ราย สมุทรปราการ เชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตาก นครพนม ระยอง สงขลา สุโขทัย สุวรรณบุรี อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย โดยพบผู้เสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย
10 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด กรุงเทพฯ 2,332 ราย สมุทรปราการ 1,006 ราย สมุทรสาคร 577 ราย ชลบุรี 513 ราย ปทุมธานี 398 ราย นนทบุรี 347 ราย ฉะเชิงเทรา 339 ราย นครปฐม 202 ราย ปัตตานี 195 ราย นราธิวาส 191 ราย
และยังมี 6 จังหวัด ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พบผู้ติดเชื้อเกินหลักร้อย ประกอบด้วย ชลบุรี นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา มหาสารคาม ศรีสะเกษ ราชบุรี โดยพบรายงานการจัดเลี้ยง งานวันเกิด พบการติดเชื้อในแคมป์คนงาน โรงงาน ตลาด นำไปสู่ชุมชนและครอบครัว
ศบค.ยังรับรายงานพบคลัสเตอร์ใหม่ 5 คลัสเตอร์ บริษัทชุบโลหะ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี 35 ราย , โรงอาหาร อ.สามโคก จ.ปทุมธานี 66 ราย , แคมป์ก่อสร้าง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 196 ราย , โรงงานยางรถยนต์ อ.กระทุ่มแบน สมุทรสาคร 23 ราย , ตลาดวังน้อย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 54 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ตอนนี้ผู้ติดเชื้อแพร่กระจายไปครบ 77 จังหวัด โดยแต่ละจังหวัดได้รับคนกลับบ้านจำนวนมากแล้ว ซึ่งตอนนี้ต่างจังหวัดประกาศว่าเริ่มจะเต็มศักยภาพแล้ว อาจไม่สามารถรองรับผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ เช่นภาคอีสานและภาคเหนือ ดังนั้น หากจะเดินทางกลับไปรักษาตัวยังภูมิลำเนา ขอให้ตรวจสอบข้อมูลปลายทางก่อน
พญ.อภิสมัย ยังตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีคลินิกเสริมความงาม ร้านตัดผม ร้านทำเล็บ ร้านสัก ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สามารถเปิดได้หรือไม่ โดยกล่าวว่า ขอขยายความจากมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ซึ่งขอเน้นย้ำว่าประกาศดังกล่าวหมายความรวมถึง 6 จังหวัด คือ กทม. และปริมณฑลเท่านั้น ได้แก่ กทม. นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ แต่ในส่วนของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัดของภาคใต้ ไม่ได้รวมอยู่ในหลักการดังกล่าว
โดยขอแบ่งเป็นกิจการภายในห้างสรรพสินค้า และนอกห้างสรรพสินค้า ดังนี้
กิจการที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน ดังต่อไปนี้ จะต้องปิดให้บริการ
1.ร้าน/แผนกหนังสือ แว่นตา เครื่องนุ่งห่ม เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องเขียน เครื่องครัว อุปกรณ์กีฬา เครื่องสำอาง อาหารสัตว์ อาหารเสริมร้านอาบน้ำตัดขนสัตว์ คลินิกรักษาสัตว์
2. สถานเสริมความงาม ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านสักเจาะผิวหนัง ร้านทำเล็บ
3. คลินิกทันตกรรม คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม
4. ร้านให้บริการล้างรถ
5. ร้านซักรีด
เนื่องจากตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคว่าเพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัวของคนจำนวนมากในพื้นที่ปิด เน้นย้ำว่าในห้างสรรพสินค้า เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ยารักษาโรค อุปกรณ์สื่อสารเพื่อความจำเป็นฉุกเฉินเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคลีนิคทันตกรรม รักษาผู้มีบุตรยาก เวชกรรมเสริมความงามเหล่านี้ หากเปิดอยู่นอกห้างสรรพสินค้า ขอให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. หรือคณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัด หากจังหวัดไหนพิจารณาว่าสามารถเปิดดำเนินการได้ขอให้ฟังประกาศของจังหวัดที่ตั้งอยู่ แต่อย่างไรก็ตามขอเน้นย้ำว่า หากมีการเปิดดำเนินการ แต่มีการรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็เป็นไปได้ที่จังหวัดนั้นก็อาจจะมีการพิจารณาสั่งปิดในโอกาสต่อไป และผู้ช่วยโฆษก ศบค. ขอขอบคุณหากมีการให้ความร่วมมือ มีผู้ประกอบการที่ปิดกิจการชั่วคราว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดการแพร่ระบาดครั้งนี้