โควิดคร่าอีก 80 คน กทม.จัด 200 ทีม เคลื่อนที่เร็ว ตรวจเชิงรุก
ศบค.รายงานการติดเชื้อใหม่ 8,656 ราย เสียชีวิต 80 คน จ่อออกแนวทางการใช้ Rapid Test
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 187,632,756 ราย เพิ่มขึ้น 370,549 ราย เสียชีวิต 4,049,071 ราย เพิ่มขึ้น 6,324 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา 34,732,753 ราย 2. อินเดีย 30,873,907 ราย 3. บราซิล 19,089,940 ราย 4. ฝรั่งเศส 5,812,639 ราย 5. รัสเซีย 5,783,333 ราย สำหรับประเทศไทย ขยับมาอยู่ในอันดับที่ 60 จำนวน 345,027 ราย
สถานการณ์ในประเทศ ผู้ป่วยรายใหม่ 8,656 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 345,027 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย เสียชีวิตสะสม 2,791 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 90,578 ราย อาการหนัก 2,895 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 747 ราย
พญ.อภิสมัย แถลง 10 อันดับ จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากสุด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 2,399 ราย สมุทรสาคร 591 ราย สมุทรปราการ 405 ราย ชลบุรี 399 ราย ปทุมธานี 397 ราย นครปฐม 315 ราย นนทบุรี 313 ราย ปัตตานี 215 ราย ยะลา 201 ราย สงขลา 188 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ศบค.รับรายงานคลัสเตอร์ใหม่ 7 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ตลาดสดรัตนากร อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 29 ราย , บริษัทผลิตอุปกรณ์แก๊ส อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 13 ราย , โรงพยาบาลเอกชน อ.เมือง สุราษฎร์ธานี 7 ราย , ร้านอาหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 12 ราย , บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี 22 ราย , บริษัทช้อปปิ้ง อ.แม่สอด จ.ตาก 7 ราย , ตลาดสายหยุด อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 7 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ได้รายงานแนวทางการตรวจเชิงรุก โดยได้จัดทีมเคลื่อนที่เร็ว กว่า 200 ทีม เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะทำการรักษาเบื้องต้นด้วยการให้ยา โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงจะให้แยกกักตัวที่บ้าน หากพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ก็จะให้กักตัวในสถานกักตัวของชุมชน ส่วนที่มีการรุนแรงก็จะมีการแยกเข้าสถานพยาบาลต่อไป
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมกำหนดแนวทางการตรวจแบบแอนติเจน รวมถึงชุดตรวจ Rapid Test โดยจะอนุญาตให้ประชาชนนำมาใช้ได้ในลำดับถัดไป เพื่อความรวดเร็วในการแยกกลุ่มเสี่ยงออกจากชุมชน
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การยกระดับมาตรการควบคุมโรคเริ่มวันที่ 12 ก.ค.แต่ยังใช้ต่อเนื่องไปอีก 2 สัปดาห์ ศบค.คาดหวังว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิตน่าจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทางบุคลากรทางการแพทย์และฝ่ายความมั่นคง ที่จะบังคับใช้มาตรการให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ