“แมสเปเปอร์” หน้ากากอนามัยใยข้าวโพดตอบโจทย์ New Normal
ในโลกการค้ายุคปัจจุบัน การต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยการเพิ่มมูลค่าถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ยิ่งหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจของเรื่องราว หรือสตอรี่ที่จะสื่อ และส่งตรงไปยังผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น
“บริษัท ซิมพลิเด็คคอร์ จำกัด” เป็นหนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้จริง และล่าสุดภายใต้การนำของ “ธนากร สุภาษา” ประธานกรรมการบริหารของบริษัทฯ ก็ได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับยุคสมัยอย่างที่สุด นั่นก็คือ “หน้ากากกระดาษที่ทำจากเส้นใยพืช (ข้าวโพด) 100%”
–ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นควันที่เชียงใหม่
ธนากร เล่าถึงพื้นฐานดั้งเดิมของบริษัทให้ฟังว่า เดิมที่บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษจากเส้นใยพืชส่งออกไปยังต่างประเทศภายใต้แบรนด์ “ปาป้า เปเปอร์” อาทิ กระดาษสา กระดาษกล้วย เป็นต้น แต่เนื่องจากที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องประสบปัญหาเรื่องของมลพิษ หรือฝุ่นควันทุกปี โดยที่ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากการเผาซังข้าวโพดบนภูเข้า หรือบนดอยของชาวบ้าน
ทั้งนี้ บริษัทได้มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว และต้องการเป็นส่วนหนึ่ง หรือมีส่วนร่วมในการส่งเสริม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคการเกษตรในจังหวัด เพราะฉะนั้นจึงตกผลึกไอเดียขึ้นมาได้ว่า ไหนๆบริษัทเองก็ทำกระดาษอยู่แล้ว น่าจะทดลองนำใยข้าวโพดมาผสมกับปอสาเพื่อทำออกมาเป็นกระดาษ โดยทำเป็นโครงการนำร่องมาตั้งแต่ในปีที่ผ่านมา (2562)
อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ทั่วโลก และในประเทศไทย ได้ส่งผลทำให้หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งของจำเป็นที่หาได้ยากมาก บริษัทจึงนำกระดาษมาทำเป็นหน้ากากอนามัย โดยได้ดำเนินการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการค้นคว้าและวิจัยในเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ใช้ระยะเวลาไม่นานมากนัก เพราะหน้ากากอนามัยเองมีมาตรฐานบังคับที่ชัดเจนอยู่แล้วให้ต้องปฏิบัติตาม
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยจากเส้นใยธรรมชาติจึงถูกสร้างสรรค์ออกมา และนำเสนอสู่ตลาดได้ทันทีวงทีต่อสถานการณ์ หรือตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันเวลา โดยส่วนหนึ่งบริษัทก็นำไปให้พนักงานได้สวมใส่ รวมถึงมอบให้กับหลายชุดชุน และยังนำไปมอบให้กับบุคลากรทางแพทย์ไว้สำหรับใช้งาน เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย
–ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืช 100%
ธนากร บอกต่อไปว่า หน้ากากอนามัยจากเส้นใยธรรมชาติของบริษัทอยู่ภายใต้แบรนด์ “แมสเปเปอร์” โดยเป็นหน้ากากอนามัยที่สะท้อนน้ำทำจากกระดาษ ซึ่งผลิตภัณฑ์จะมีคุณลักษณะเด่นหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การเป็นหน้ากากที่ทำจากเส้นใยพืช 100% หรือหากเปรียบเทียบกับเสื้อผ้าก็คือ ผ้าที่เป็นคอตตอม หรือใยสังเคราะห์ 100% โดยจะดีกว่าในด้านของการใช้งาน ขณะที่บริษัทเองก็มีแผนที่จะต่อยอดไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานอินทรีย์ในระยะต่อไป
อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์แมสเปเปอร์ยังเป็นการผสมผสานที่ลงตัว โดยอยู่กึ่งกลางระหว่างหน้ากากอนามัยที่ใช้ทางการแพทย์ และหน้ากากที่สำหรับสวมใส่ป้องกันฝุ่นจิ๋ว หรือ PM2.5 อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการสะท้อนน้ำ โดยสามารถป้องกันสารคัดหลั่งที่เกิดจากการพูด ไอ หรือจามที่จะกระเด็นมาสู่ผู้สวมใส่ และกันสารคัดหลั่งจากผู้สวมใส่ไปยังผู้อื่นได้ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเกิดจากการเคลือบด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ
นอกจากนี้ แมสเปเปอร์ยังมีตัวกรองที่ชั้นกลางของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทใช้วิธีเคลือบซิลเวอร์นาโนลงไป โดยจะมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ซึ่งหากนึกภาพตามก็จะเสมือนตัวดักยุง เมื่อยุงบินผ่านเข้ามาก็จะเกิดไฟชอต โดยหากกลับกันเป็นเชื้อแบคทีเรีย เมื่อผ่านเข้ามาตรงชั้นกลางก็จะถูกทำลาย
–เน้นเจาะตลาดผลิตภัณฑ์กระดาษ
ธนากร บอกอีกว่า ช่องทางการจำหน่ายหลักของแมสเปเปอร์ จะดำเนินการผ่านเพจเฟสบุ๊กของปาป้า เปเปอร์ และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเว็บไซด์แมสเปเปอร์ดอทคอมเพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่าย นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเตรียมนำผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายผ่านเว็บชอปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนของการถ่ายรูป ทำภาพประกอบ และทำสื่อในรูปแบบของอินโฟรกราฟิก เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย และไว้วางใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์แมสเปเปอร์ ยังได้โอกาสในการวางจำหน่ายผ่านช่องทางมาร์เก็ตเพลสของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. (SME D Bank) ด้วย ซึ่งช่วยทำให้แมสเปเปอร์เป็นที่รู้จักมากขึ้น
“ราคาจำหน่ายของแมสเปเปอร์จะอยู่ที่ 29 บาทต่อชิ้น หรือ 4 ชิ้น 100 บาท โดยราคาอาจจะสูงกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดาทั่วไปที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งแบบนั้นจะไม่มีคุณสมบัติในการกรอง PM2.5 และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่จะถูกกว่าหน้ากากแบบผ้า หรือหน้ากาก N95 ที่ไม่มีคุณสมบัติในการกรองไวรัส”
สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดในระยะต่อไปของบริษัทนั้น ต้องการวางตำแหน่งทางการตลาดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเส้นใยพืช โดยได้มาจากเส้นใยพืชที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้งานจากเกษตรกรหลังจากที่ได้มีการตัดแต่ง โดยบริษัทได้นำเส้นใยดังกล่าวเหล่านั้นมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ที่มีวัตถุประสงค์ในการดูแลสิ่งแวดล้อม ภายใต้คอนเซ็ปป์ของการไม่ทิ้งขว้างเลย ซึ่งบริษัทได้กระจายผลิตภัณฑ์ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.บริษัทมีจุดเริ่มต้นมาจากงานหัตถกรรม เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นของที่ระลึก และของตกแต่งบ้านจากกระดาษก็จะคงมีการผลิตเพื่อจำหน่ายต่อไป ,2.หน้ากากอนามัยที่ทำจากเส้นใยพืช ,3.บริษัทเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอาง โดยการนำกระดาษามาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญแบบแฮนด์เมด และ4.ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการกรอง (Filter) เพราะบริษัทมองว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องของฝุ่นควัน และอีกมากมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
“อะไรที่เป็นกระดาษเช่น กระดาษกรองนำมันในการทอด หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่สามารถนำกระดาษาไปใช้งานได้บริษัทก็จะเข้าไปดำเนินการ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด โดยถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำตลาดของปี 64”