“RICHY RICE” ข้าวสังข์หยดแปรรูปเพิ่มมูลค่า
ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องการเป็นประเทศแห่งเกษตรกร โดยมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีสายพันธุ์เฉพาะที่มีชื่อเสียงของแต่ละภูมิภาคด้วย แม้ว่าจะเป็นพืชผลทางการเกษตรชนิดเดียวกัน แต่ก็ทำให้รสชาติมีความแตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี ปัญหาอย่างหนึ่งของพืชผลทางการเกษตรในประเทศไทยก็คือ ผลผลิตที่มีออกมาจนล้นเกินความต้องการของตลาด เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่จะเลือกปลูกพืชผลที่ตลาดมีความต้องการเหมือนกัน และคิดว่าน่าจะจำหน่ายได้ในราคาที่ดี แต่เมื่อกลไกลของตลาดทำงานผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายเป็นตรงกันข้าม
แบรนด์ “RICHY RICE” Startup ธุรกิจขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ปัญหาราคาผลผลิตที่ตกต่ำ จากผลผลิตที่มากเกินความต้องการของตลาด และถูกพัฒนาต่อยอดขึ้นมาได้อย่างงดงามภายใต้การดูแลของ “กนิดา เสนีย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ริชชี่ ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด
แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด
“กนิดา” เล่าว่า ริชชี่ ไรซ์ เติบโตมาจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรซึ่งก็คือ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัด โดยมีจุดเริ่มต้นของไอเดียในการทำธุรกิจมาจากการพยายามเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะข้าวล้นตลาดให้กับจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นปัญหาที่หนักหน่วงอย่างมากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีคุณแม่เป็นหัวเรือในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ คุณแม่ได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นมานั่งระดมสมองร่วมกัน จนเป็นที่มาให้ตัวเธอต้องกระโดดเข้ามาช่วยเหลือในการระบายข้าวจำนวนมากนั้น โดยแนวคิดแรกในการแก้ปัญหาก็คือการนำข้าวสังข์หยดมาบรรจุในถุงสุญญากาศขนาด 1 กิโลกรัม ให้มีแพคเกจที่สวยงามดึงดูดผู้บริโภคเพื่อจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดต่างๆ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด
“จากการเปลี่ยนโฉมบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว ปรากฏว่าสินค้าได้ผลตอบรับดีมาก ทำให้ขยายกำลังผลิตเพิ่มเติม โดยสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพื่อป้อนวัตถุดิบ มีสมาชิกยุคบุกเบิก 45 ราย โดยแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวสังข์หยดคุณภาพดีให้เกษตรกรนำไปปลูก เพื่อจะควบคุมคุณภาพผลผลิต พร้อมขอความร่วมมือให้ปลูกโดยปลอดสารเคมี หากปฏิบัติตามเงื่อนไข จะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด”
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่ทำออกมาในลักษณะเดียวกัน ทำให้ยอดขายที่เติบโตอย่างมากกลับลดลงในระยะเวลาต่อมา โดยเป็นโจทย์สำคัญที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวเธอต้องหาวิธีในการแก้ปัญหา จนสุดท้ายมาตกผลึกทางความคิดด้วยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อเพิ่มมูลค่า
แปรรูปเป็นขนมอบกรอบ
กนิดา เล่าต่อไปว่า การแปรรูปที่ลงตัว และน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากที่สุดในเวลานั้น็คือการนำข้าวสังข์หยดมาทำเป็นขนมขบเคี้ยว หรือแสนค (Snack) ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศสูงกว่าหมื่นล้านบาท และบังมีผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดการแข่งขันไม่มาก
เมื่อได้แนวทางแล้วก็ใช่ว่าจะเนรมิตผลิตภัณฑ์ออกมาได้ทันที ตัวเธอและทีมงานต้องใช้เวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่เป็นปีกว่าจะกลายเป็นขนมข้าวสังข์หยดอบกรอบ โดยให้ชื่อทางการตลาดว่า “เกี่ยวข้าว by RICHY RICE” ซึ่งประโยชน์ของการแปรรูปก็คือ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบ ลดความเสี่ยงเรื่องราคาข้าวผันผวน สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้ง่ายกว่าของสด และยังฉีกหนีการแข่งขันจากตลาดค้าข้าวสารทั่วไป
“ปัจจุบันเราได้นำข้าวสังข์หยดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันรำข้าวสำหรับประกอบอาหาร น้ำมันรำข้าวสกัดเป็นอาหารเสริม ขนมอบกรอบในกลุ่มของสแนค”
ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ
กนิดา เล่าอีกว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้การผลิตของบริษัทอยู่ที่ การเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณประโยชน์มหาศาลอย่างข้าวสังข์หยดมาเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงการมีงานวิจัยรองรับเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ย่อมได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามไปด้วย ที่สำคัญยังดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และยังสามารถรับประทานได้ทุกเพศทุกวัย
ด้านช่องทางการจำหน่ายนั้น หากเป็นในประเทศจะมุ่งเน้นไปที่ห้างโมเดิร์นเทรดทั่วไป และตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือสนามบิน เช่นในคิงพาวเวอร์ ส่วนตลาดต่างประเทศก็จะมีส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศสิงคโปร์ ,มาเลเซีย ,จีน ,ฮ่องกง ,เวียดนาม และยุโรปบางประเทศ นอกจากนี้ก็ยังมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซด์ และเพจเฟสบุ๊ก (เกี่ยวข้าว by Richy Rice และริชชี่ ไรช์ – อาหารเพื่อสุขภาพ)
ขณะที่แผนการทำตลาดในระยะต่อไปนั้น จะมีทั้งแบบระยะสั้น และระยะยาว โดยก่อนนี้เรามีแผนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งรูปแบบของธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) และธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C แต่จากการเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้มีการปรับแผน ซึ่งแผนในการลงทุนจะเน้นไปทางการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ขณะที่ตัวผลิตภัณฑ์ก็พยายามพัฒนาให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดในปัจจุบันมากขึ้น
“เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นก็จะเห็นว่าตลาดบางจุดถูกทำให้หายไป แต่ตลาดที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องคือตลาดที่เป็นสินค้าสุขภาพ เราเลยมีการปรับตัวด้วยการดึงสินค้าที่อยู่ระหว่างงานวิจัยของ ซึ่งเรามีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่อยู่ระหว่างการทำวิจัยและพัฒนาอยู่ที่จะเร่งออกมาสู่ตลาดให้รวดเร็วขึ้น โดยช่วงที่เกิดโควิดเราก็พบว่าตลาดของผลิตภัณฑ์ที่เจาะกลุ่มสุขภาพประสบความสำเร็จ และยอดขายไม่ตก รวมถึงมีโอกาสที่อดขายจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
กนิดา ฝากแนวคิดในการทำตลาดที่น่าสนใจไว้ว่า การวางแผนในสภาวะที่เกิดโรคระบาดหรือวิกฤติครั้งนี้ ควรวางแผนระยะสั้นมากๆ และเป็นแผนที่จะยืดหยุ่นได้สูง เนื่องจากการประเมินสถานการณ์ที่ชัดเจนนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นในการทำธุรกิจหรือวางแผนอะไรในโลกปัจจุบัน แผนนั้นควรจะต้องยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันกับสถานการณ์ตลอดเวลาและรวดเร็ว