“กุลา” ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปจากธรรมชาติ 100%
ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลกมานานนม โดยข้าวไทยเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกทั้งในเรื่องของผลผลิตที่มีคุณภาพ และรสชาติที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่สำคัญยังมีหลากหลายสายพันธุ์ให้ได้เลือกรับประทานตามความชอบ
ทั้งนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ปลูกข้าวรายใหญ่ของโลก แน่นอนว่าผลผลิตย่อมมีมากตามไปด้วย โดยจะเห็นได้จากเกือบทุกพื้นที่ในประเทศจะมีการทำนาปลูกข้าวไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ราบ และพื้นที่บนภูเขาสูง ซึ่งส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายอาจจะไม่สูงเท่าที่ต้องการ ตามกลไกลแห่งอุปสงค์และอุปทาน
อย่างไรก็ดี หนึ่งในวิธีเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรนั่นก็คือ “การแปรรูป” ซึ่งชายหนุ่มอย่าง “สว่าง สุขแสง” เองก็เป็นหนึ่งในเจ้าของธุรกิจที่เลือก “Startup” ธุรกิจของตนเองด้วยวิธีการดังกล่าว และสามารถทำให้ผลิดอกออกผลในรูปของผลตอบแทนทางการเงินได้อย่างดงงาม
–สินค้าเกษตรแปรรูปเพิ่มมูลค่า
สว่าง ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทุ่งกุลาอินเตอร์เทรด บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการทำธุรกิจว่า ผลิตภัณฑ์ของตนคือการแปรรูปข้าวสังข์หยดให้กลายมาเป็น แครกเกอร์อบกรอบสอดไส้ไวท์ช็อคโกแลตภายใต้แบรนด์ “กุลา” (KULA) โดยมีพื้นฐานทางความคิดมาจากการเป็นคนอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายแบบยังไม่ได้แปรรูป
ทั้งนี้ ตนจึงมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ประเภท ข้าว ซึ่งเป็นพืชผลทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย โดยเลือกใช้ข้าวหอมมะลิพันธุ์สังขหยดมาแปรรูป โดยมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ว่าจะเป็นใครส่วนใหญ่ก็จะรู้จัก แต่ยังจำหน่ายไม่ได้ราคาอย่างที่ควรจะเป็น เพราะมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อผลผลิตมีมากก็ต้องหาวิธีนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง เพื่อทำให้มีมูลค่ามากขึ้น โดยตนที่ดำเนินการร่วมมือกับทางจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหาแนวทางในการแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า
“ตนรู้สึกว่าเป็นความโชคดีที่มีภาคีมาร่วม และมาช่วยในการทำงานเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. (SME D Bank) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นไปได้ด้วยดี”
วัตถุดิบธรรมชาติ 100%
สว่าง บอกอีกว่า จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้ตนได้รับโอกาสหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นรอยต่อสำคัญของการสร้างธุรกิจ นั่นก็คือการได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นในเรื่องของการทำอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวในระดับท้องถิ่น หรืออีโคโนมี่ (Economy) ชุมชนทำ ผู้ประกอบการรายเล็กทำ โดยเป็นการจุดประกายที่ทำให้ตนได้ลุกขึ้นมาหาผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่น เพื่อให้ตอบโจทย์กับทุนที่มีอยู่แล้ว นั่นก็คือข้าวหอมมะลิ
หลังจากนั้นจึงได้ดำเนินการร่วมมือกับสถาบันอาหาร คิดค้นสูตรโดยการนำข้าวหอมมะลิมาทำเป็นขนม โดยการแปรรูปเป็นขนมอาจจะเหมือนที่มีอยู่ทั่วไปในตลาด แต่แบรนด์ กุลา มั่นใจในความแตกต่างซึ่งมาจากการใช้ข้าวในพื้นที่ โดยที่ไม่มีสารกลูเตน (Gluten) และไม่มีสารที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ภายใต้โจทย์ใหญ่นั่นก็คือการจะทำอย่างไรให้ข้าวหอมมะลิสามารถสร้างรายได้ ซึ่งเป็นการนำเสนอขนมแบบอินเตอร์แต่หน้าตาแบบไทย
“จุดเด่นของแบรนด์ กุลา อยู่ที่การใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ 100% ในพื้นที่ นั่นก็คือข้าวหอมมะลิ หลังจากนั้นก็ใช้แนวคิดในการที่จะสร้างเรื่องเดียวให้เกิดประโยชน์หลายเรื่องควบคู่ไปด้วย โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ดึงดูดภาคการท่องเที่ยวให้เข้ามาในชุมชน เพื่อให้เกิดการขายในหลากหลายช่องทาง เพราะส่วนหนึ่งเราได้แนวคิดมาจากญี่ปุ่น ซึ่งขายไอเดียความเป็นพื้นที่ วิธีการทำข้าว โดยนำข้าวมาทำเป็นขนม ซึ่งขนมของญี่ปุ่นจะมีความหลากหลาย และสมบูรณ์แบบอย่างมาก”
ออนไลน์ยอดพุ่ง
สว่าง บอกต่อไปอีกว่า ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ กุลา จะอยู่ที่โรงแรม แหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก และในส่วนของช่องทางออนไลน์ทั้งเพจเฟสบุ๊ก รวมถึงเฟสบุ๊กส่วนตัว และไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้สนใจเข้ามาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมาก โดยถือว่าได้รับอนิสงส์จากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้แบรนด์ได้มีโอกาสเติบโตมากขึ้น จากการที่ผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อลดอัตราความเสี่ยงการติดเชื้อจากการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ยังเพิ่มความรับรู้สู่ผู้บริโภคผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ โดยมีภาคีของแบรนด์เข้ามาช่วยเหลือ โดยล่าสุดได้มีการเจรจาการค้าร่วมกับซีพีออลล์ และ ธพว. ซึ่งยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการายเล็กได้เข้าถึงระบบปฏิบัติการ หรือแพลตฟอร์ม (Platfrom) ออนไลน์ยอดนิยม โดยเป็นการเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับแบรนด์
นอกจากนี้ อีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญซึ่งแบรนด์มีความคาดหวังอยู่พอสมควรก็คือเรื่องการท่องเที่ยวที่จะกลับมา จากเดิมที่แบรนด์มียอดจำหน่ายผ่านช่องทางดังกล่าวได้มากพอสมควร แต่ก็ต้องหยุดชะงักลงไปเพราะโควิด-19 โดยเมื่อมีการปลดล็อกมาตรการปิดเมือง (Lockdown) เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางเข้ามา และทำให้ผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้เพิ่มมากขึ้น
“ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสแฝงอยู่เสมอ แต่เราจะค้นหาโอกาสจากวิกฤติได้อย่างไรก็คือการที่เราต้องมีความชัดเจนเรื่องสินค้าเรื่องธุรกิจ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เหมือนเรา หรือจะมีช่องทางที่เหมือนเราได้ โดยสิ่งที่จะต้องทำก็คืออย่าหยุด เราเดินหน้าให้เต็มที่ หาช่องทางให้ได้ เพราะจะมีช่องทางให้เราเสมอหากเราไม่หยุด ผมชื่อว่าทุกคนทำได้ แม้เราจะเป็นผู้ประกอบการายเล็ก แต่ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว รายเล็กเรารวมตัวกันให้เยอะขึ้น อย่าทิ้งเครือข่ายสานพลังให้ชัดขึ้น แล้วเราจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้”