“Restee” สบู่สมุนไพรโอทอปอ่างทองผลิตด้วยมือก้อนต่อก้อน
รากฐานทางธุรกิจที่ดีถือเป็นแต้มต่ออย่างหนึ่งของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่จะประสบความสำเร็จได้เพียงเพราะแค่สานต่อธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้วเท่านั้น โดยธุรกิจจะต้องมีการต่อยอดด้วยการนำนวัตกรรม หรือมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้
“นงลักษณ์ ริ้วเหลือง” คือหญิงสาวที่สามารถต่อยอดธุรกิจของครอบครัวด้วยความตั้งใจ และมุ่งมั่น โดยกลั่นกรองไอเดียในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จนตกผนึกจากปัญหาของผู้บริโภคที่พบ และต้องการความสะดวกสบายในการใช้งาน จนกลายเป็นสบู่ “เรทเต้” (Restee) ที่ผู้บริโภคให้การยอมรับ พร้อมกับ “Startup” ในยุคของเธอขึ้นมาได้อย่างน่าชื่นชม
จากธุรกิจครอบครัว
นงลักษณ์ ในฐานะเจ้าของกิจการสบู่ แบรนด์ เรทเต้ บอกถึงจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจในยุคของตัวเธอว่า เดิมทีครอบครัวของเธอทำธุรกิจเกี่ยวกับสบู่อยู่แล้ว โดยที่ตัวเธอมองเห็นแนวทางในการสร้างสบู่ที่ปราศจากสารเคมี หรือมีสารเคมีน้อยที่สุด แล้วหันมาใช้วัตถุดิบจากสมุนไพรซึ่งมีอยู่มากมายในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบหลัก ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าว ,ขิง ,ข่า ,ตระไตร้ และทานาคา เป็นต้น เพื่อบำรุงผิว

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ โดยจุดเริ่มที่ทำให้เธอก้าวมาอยู่บนเส้นทางของการทำธุรกิจสบู่สมุนไพรได้ มาจากการที่ตัวเธอได้มีโอกาสเข้าโครงการ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเจ้าธนบุรี โดยที่ต้องผ่านการประกวด การคัดกรอง จนเข้ารอบได้เป็น Startup ตัวจริง และทำให้ได้เข้าไปอยู่ในสังกัด สำนักงานปลัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ในส่วนงานด้านการอุดมศึกษา มีผู้เชี่ยวชาญมาคอยให้คำแนะนำ
อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าทุกอย่างไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าจะมาเป็นสบู่ เรทเต้ ได้อย่างในปัจจุบัน ตัวเธอเองก็ต้องหกล้มเหมือนกับที่เอสเอ็มอีทุกรายต้องเจอ ไม่ว่าจะเกิดจากการที่ผลิตสินค้าออกมาแล้วขายไม่ได้ หรือเงินทุนไม่เพียงพอ หรือผลิตมาแล้วจะไปขายให้กับใคร เรียกว่าเจอมาหมดแทบทุกปัญหา
เมื่อตัวเธอต้องเจอกับปัญหาดังกล่าวเหล่านั้น โค้ชที่ทำหน้าที่ดูแลตัวเธอรวมถึงคณะกรรมการได้มอบหมายอาจารย์อดิวิชญ์ สงศิริ จากโครงการที่ปรึกษาผลิตภัณฑ์โอทอป (OTOP)เพื่อจำหน่ายบนเครื่องบินของการบินไทยเข้ามาช่วยดูแล ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องของการขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ โดยนำเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานต่างๆตามขั้นตอน ซึ่งในท้ายที่สุดสบู่ เรทเต้ ได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์โอทอปของจังหวัดอ่างทอง

“ตนเรียนจบปริญญาตรี และไปสมัครสอบแข่งขันที่องค์การเภสัชกรรม ได้ที่ 1 ฝ่ายด้านร้านขายยา สมุนไพรและเครื่องสำอางค์ ในยุค นพ.วิทิต อรรคเวชกุล ดำรงตำแหน่ง MD ในขณะนั้น ทำให้มีความรู้เรื่องสมุนไพร ว่าสิ่งใดตรงใจผู้บริโภคและใช้ได้จริง”
ผลิตทีละก้อน
หากถามถึงจุดเด่นของสบู่ เรทเต้ นงลักษณ์ บอกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ตัวเธอตั้งใจสร้างสรรค์มีจุดเริ่มมาจากการสังเกตุวิธีการใช้สบู่ตามปกติทั่วไปซึ่งจะต้องมีการแยกระหว่างสบู่ที่ใช้สำหรับล้างหน้า กับใช้ล้างหน้า เพราะมีส่วนผสม และสรรพคุณที่แตกต่างกัน โดยที่ตัวเธอมองว่าผู้บริโภคที่อยู่ต่างจังหวัดอาจจะมีกำลังซื้อไม่มากจนถึงขนาดต้องมาซื้อสบู่แยกประเภทตามการใช้งาน
ดังนั้น ตัวเธอจึงต้องการทำสบู่ขึ้นมาที่สามารถใช้ได้ทั้งล้างหน้า และอาบน้ำในก้อนเดียวกัน โดยเลือกนำสมุนไพรมาเป็นส่วนผสมหลัก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันมะพร้าว โปรตีนรังไหม ทานาคา นมสด ซึ่งจะช่วยในการบำรุงผิว และลดการเกิดสิว และฝ้า
“วัตถุดิบที่นำมาทำสบู่จะถูกคัดสรรมาอย่างดี โดยหากเป็นน้ำมันมะพร้าวจะมาจากจังหวัดชุมพร โปรตีนรังไหมจากภาคเหนือ ทานาคาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก นมสดจากสระบุรี ซึ่งวัตถุดิบทุกชนิดจะถูกนำมาสต็อกให้อยู่ในความสดใหม่อยู่เสมอ เพราะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของสบู่”

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญอย่างมาก็คือ สบู่เรทเต้ จะถูกทำขึ้นมาด้วยมือของชาวบ้านในจังหวัดอ่างทอง หรือที่เรียกว่าแฮนด์เมด (Handmade) กันแบบก้อนต่อก้อน ทำให้การผลิตอาจจะไม่รวดเร็วมาก ซึ่งหากเป็นผู้ประกอบการรายอื่นอาจจะไม่ต้องการมาแบกรับตรงทุนกับการผลิตในขั้นตอนดังกล่าวนี้ แต่เรทเต้เลือกที่ใช้วิธีการดังกล่าว เพื่อความพิถีพิถันก่อนที่จะถูกส่งไปยังลูกค้า
เพิ่มตัวแทนจำหน่าย
นงลักษณ์ บอกต่อไปว่า ช่องทางการจำหน่ายในปัจจุบันของสบู่เรทเต้ จะอยู่บนตลาดออนไลน์ ซึ่งทำให้สบู่ขอตัวเธอยังสามารถขายได้แม้ในช่วงที่มีสถานการณืการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) เสมือนเป็นการพลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาสได้เป็นอย่างดี และผ่านทางตัวแทนจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันถือว่ายังมีไม่มากพอ
“ปัญหาหลักของตนก็คือการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการยิงแอดที่ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เพราะว่าไม่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญ โดยที่ตนเองก็พยายามเรียนรู้ และพัฒนาช่องทางดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีสร้างเพจเฟสบุ๊กขึ้นมาเพื่อรองรับออเดอร์ของลูกค้า”
ยอดจำหน่ายของสบู่เรทเต้เพิ่มขึ้นย่างต่อเนื่องจากเดิมที่ขายได้ประมาณ 5,000-50,000 ก้อนต่อเดือน ปัจจุบันสามารถจำหน่ายได้ประมาณ 1-2 แสนก้อนต่อเดือน ด้วยโปรโมชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าจากการจำหน่ายในราคาก้อนละ 59 บาท แต่หากซื้อ 3 ก้อนจะจ่ายเพียง 170 บาท และจัดส่งให้โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเก็บเงินปลายทางได้
ขณะที่กลยุทธ์ในการทำตลาดในระยะต่อไปเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า และรายได้นั้น ตัวเธอต้องการให้นักศึกษาได้มีรายได้ระหว่างเรียน หรือผู้ที่ด้อยโอกาสทางด้านเงินทุน โดยการให้มาเป็นตัวแทนจำหน่าย และซื้อสบู่ไปจำหน่ายในรคาที่ไม่สูงมาก เพื่อให้ทั้ง 2 กลุ่มได้นำผลิตภัณฑ์ไปต่อยอดสร้างรายได้ สบู่เรทเต้เองก็จะถูกกระจายไปยังผู้บริโภคได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
“เรทเต้ เป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่า พักผ่อน หรือผ่อนคลาย”