“Luxury” หน้ากากผ้าคอลลาเจนอาวุธคู่กายสู้โควิด-19
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) แผ่ขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ด้วยสาเหตุจากหลายปัจจัยที่อาจจะยังไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ในยุคปัจจุบันอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคนคงหนีไม่พ้นหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ ซึ่งเวลานี้ทุกคนจะมีพกติดตัวเป็นของใช้จำเป็น แต่เมื่อเป็นสิ่งที่จำเป็นย่อมทำให้ของสำคัญทั้ง 2 สิ่งหายากในท้องตลาดเป็นธรรมดา
ปรับกลยุทธ์สู้ไวรัส
คมศานต์ จิวากานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลักษณ์ โฮเทลซัพพลาย จำกัด ผู้ที่เริ่ม “Startup” ธุรกิจขึ้นมาด้วยการเป็นผลิตและจำหน่ายหมอน และเครื่องนอนโรงแรม 6 ดาว แบรนด์ “Luxury” เป็นหนึ่งผู้ประกอบการที่ถูกผลกระทบอย่างจังจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดรายได้ของบริษัทไปเลยทั้ง 100% เพราะการทำตลาดของบริษัทช่องทางหลัก เป็นการจำหน่ายผ่านงานแสดงสินค้า ,ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ,ศูนย์การค้าขนาดเล็ก (Community Mall) ,อาคารสำนักงาน และโรงแรม
“หลังจากที่รัฐบาลมีการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทหายไปทั้งหมด 100% เนื่องจากกลยุทธ์การทำตลาดหลักของแบรนด์คือการออกงานแสดงสินค้า รวมถึงการเปิดบูธจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ,ศูนย์การค้าขนาดเล็ก หรือคอมมูนิตี้มอลล์ (Community Mall) ,อาคารสำนักงาน และโรงแรม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องปิดการให้บริการ”
ทั้งนี้ เมื่อผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว ตนได้มีโอกาสนั่งทบทวนกระบวนการที่จะแก้ไขปัญหา เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงสิ่งที่สำคัญก็คือการส่งเสริมผู้บริโภคอย่างยั่งยืน เพราะมีกระแสข่าวเรื่องของการแสวงหาโอกาสทำกำไรในช่วงวิกฤติที่เกิดขึ้น จากการทำผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุคนี้ อย่างหน้ากากอนามัย ซึ่งด้วยความที่บริษัทมีนวัตกรรมทางด้านผ้าที่ถือว่าดีที่สุด ที่นำมาผลิตเป็นผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเช็ดหน้าที่สามารถเก็บไว้ใช้งานได้ตลอด เมื่อเหลือบไปเห็นผ้าคอลลาเจนของบริษัทที่มีคุณสมบัติซักกี่ครั้งก็ได้ตลอดอายุการใช้งาน จึงคิดว่าน่าจะนำเสนอสิ่งนี้ให้กับผู้บริโภค
บริษัทจึงได้ดำเนินการปรับตัวโดยหันมามุ่งเน้นการผลิตหน้ากากผ้าเพื่อจำหน่าย เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป รวมถึงหล่อเลี้ยงธุรกิจ และพนักงานให้ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยปัจจุบันมียอดคำสั่งซื้ออยู่ที่ประมาณ 2 พันชิ้นต่อวันผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งถือว่าเต็มกำลังการผลิตเนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นการเย็บด้วยมือ หรือแฮนด์เมด (Handmade) ทุกชิ้น โดยทำให้บริษัทมียอดรายได้อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทต่อเดือน
ขยายกำลังการผลิต
อย่างไรก็ดี บริษัทแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศซึ่งมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดในประเทศมีกลุ่มที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งพนักงานต้องใช้หน้ากากในปฏิบัติงานอยู่แล้ว จะมีการปรับเปลี่ยนมาใช้รูปแบบผ้าเพื่อให้นำกลับมาใช้ซ้ำได้ติดต่อเข้ามาหลายแห่ง
ขณะที่ตลาดต่างประเทศที่สนใจติดต่อเข้ามาเป็นกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง และดูไบ ซึ่งต้องการให้บริษัทผลิตและส่งให้จำนวน 5 หมื่นชิ้นต่อสัปดาห์ โดยการปรับตัวดังกล่าวถือเป็นการพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสจากองค์ความรู้ และวัตถุดิบที่บริษัทมีอยู่ ซึ่งต้องหยุดชะงักลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสควิด-19
“เดิมทีบริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 360 ล้านบาทในปีนี้ หรือประมาณเดือนละ 30 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา 2 เดือนบริษัทยังสามารถทำได้ตามเป้า แต่เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์ ทำให้รายได้ของบริษัทต้องหยุดชะงักลงทั้งหมด หรือกลายเป็นศูนย์ เพราะงานแสดงสินค้าไม่สามารถจัดได้ ขณะที่ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ต่างก็ต้องปิดให้บริการ การปรับตัวดังกล่าวจึงเสมือนเป็นทางออกในภาวะวิกฤติแบบนี้”
ซักได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
สำหรับจุดเด่นของหน้ากากผ้าของบริษัทนั้น อยู่ที่ผ้าด้านนอกทำจากผ้าดีลักซ์แคร์เป็นผ้าคัตตอนมิกซ์ทอ 1100 เส้นด้าย สามารถกันน้ำ กันฝุ่น เนื้อผ้าเรียบลื่น ไม่ใช่ผ้าเคลือบสาร ทำให้สามารถซักทำความสะอาดได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ส่วนผ้าด้านในทำจากผ้าคอนตอนคอลลาเจนทอ 1200 เส้นด้ายทำให้ได้เนื้อผ้าลื่น เย็นสบายอ่อนโยนต่อผิว ลดปัญหาการละคายเคือง แสบ คัน ปัญหาร้อนอบจากการใส่หน้ากาก โดยสายคล้องหูยางยืดมีตัวล็อคที่ปรับขนาดสายคล้องให้พอดีกับทุกรูปแบบใบหน้า
คมศานต์ บอกอย่างหนักแน่นและชัดเจนว่า บริษัทไม่มีแผนที่จะปลด หรือลดเงินเดือนพนักงานในช่วงนี้ แม้ว่ารายได้ของบริษัทจะหายไปค่อนข้างมาก แต่ตนมีความคิดว่าตนมีความเดือดร้อนน้อยกว่าพนักงานมากหากเทียบเป็นรายได้ ดังนั้น ตนจึงเลือกที่จะปรับกระทบวนการทำงานไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อทำให้พนักงานได้มีงานทำ และมีรายได้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนโดยไม่ถูกกระทบ
“เราไม่จำเป็นต้องทำตามกระแสเรื่องการปลดหรือลดเงินเดือนพนักงาน เพราะตนคิดว่าหากปรับลดแล้วผู้ที่เจ็บมากกว่าก็คือพนักงาน เมื่อดูจากรายได้เรามีหลักล้าน แต่พนักงานมีเพียงหลักพันหรือหลักหมื่น นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านผ่อนรถก็แทบไม่เหลือ หากยิ่งไปปรับลดก็ยิ่งจะไม่เหลือไว้ใช้จ่าย แต่เราที่เป็นเจ้าของกิจการยังพอมีเหลือใช้ เราเลยพยายามหาอย่างอื่นมาให้พนักงานทำ โดยในตอนแรกก็ไม่คิดที่จะทำหน้ากาก เพราะเกรงว่าจะถูกมองเป็นการหากำไรในช่วงวิกฤติความต้องการ แต่เมื่อมาพิจารณาจากคุณสมบัติของวัตถุดิบที่มี ซึ่งสามารถป้องกันไวรัส รวมถึง PM2.5 และที่สำคัญยังสามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตลอด จึงคิดว่าเป็นความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคควรจะได้รับ”