บอลโลกเงินไม่สะพัดเหมือนก่อน
ทุกครั้งที่โลกมีมหกรรมด้านการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นรายการโอลิมปิคฤดูร้อน ฟุตบอลโลก หรือแม้แต่ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ที่เมืองไทย…กิจกรรมต่อเนื่องจากมหกรรมกีฬาดังกล่าว จะพรั่งพรูและถูกนำมาต่อยอดธุรกิจการค้าในหลากหลายภาคส่วน ด้วยหวังจะใช้กลยุทธ์ “สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง” นี้ มาสร้างกำลังซื้อและกระตุ้นยอดขายในหลากหลายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างคึกคัก
แต่ไม่ใช่รายการฟุตบอลโลก 2018 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14 มิ.ย. – 15 ก.ค. 2561 ณ ประเทศรัสเซีย
แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลายตัวจะเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น แต่หลายฝ่ายโดยเฉพาะแกนหลักภาคเอกชน อย่าง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย ซึ่งนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. ที่เปิดแถลงต่อหน้าสื่อมวลชน ภายหลังการประชุมร่วมฯ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยเขายอมรับว่า…แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้น คาดการณ์จีดีพีปี 61 จะเติบโต 4.8% แต่การขยายตัวก็เป็นไปในลักษณะของการ “กระจุกตัว” อยู่กับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ชนิดไม่มีการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี เกษตรกร และพนักงาน-ลูกจ้าง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่และสำคัญสุดของระบบเศรษฐกิจไทย อย่างที่ควรจะเป็น
สิ่งนี้สะท้อนภาพ “รวยกระจุก จนกระจาย” ในยุครัฐบาล คสช. ได้ชัดเจนอย่างที่สุด!
ช่วงเวลาเดียวกัน ที่ ม.หอการค้าไทย โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดแถลงผลการสำรวจ “ค่าใช้สอยบอลโลก 2018” โดยคาดว่า ช่วงระยะเวลา 1 เดือนของฟุตบอลโลกหนนี้ ระบบเศรษฐกิจไทยน่าจะมีเงินสะพัด 78,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าวงเงินเมื่อ 4 ปีก่อน ที่มีสูงถึง 95,154 ล้านบาท
โดยบางส่วนของเม็ดเงินจำนวนนี้ ไหลอยู่ในระบบเศรษฐกิจของไทยเพียงแค่ 17,901 ล้านบาท ที่เหลือส่วนใหญ่ 58,995 ล้านบาท กลายเป็นเม็ดเงินที่ถูกนำไปใช้จ่ายกับการพนันฟุตบอล ซึ่งถือเป็นวงจรนอกระบบ ที่ไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยสักเท่าใด
ทำให้คาดหมายว่า เม็ดเงินจากการจัดกิจกรรมการตลาดต่อเนื่องจากมหกรรมฟุตบอลโลกหนนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2561 ได้เพียงแค่ 0.2-0.3% เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ประเมินอีกว่า เม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แยกเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคและอุปกรณ์เพื่อการสื่อสาร 15,434 ล้านบาท, รายจ่ายเพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และวัสดุอุปกรณ์รับสัญญาณอีก 2,467 ล้านบาท ที่เหลือ 1,488 ล้านบาท เป็นรายจ่ายในส่วนอื่นๆ
สิ่งหนึ่งที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯมองไม่เห็นก็คือ กิจกรรมที่ขาดหายไป หรือยังคงมีอยู่ แต่ขนาดกิจกรรมกลับเล็กลงจนน่าใจหาย นั่นคือ การดึงเอาภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างฟุตบอลโลก 2018
หากยังจำกันได้ ช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้าจะเข้าสู่มหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกในแต่ละครั้ง สื่อมวลชนบางแห่งได้จับมือกับภาครัฐและเอกชนนับสิบราย ประกาศความพร้อมจัดกิจกรรมร่วมสนุกทายผลการแข่งขันชิงเงินรางวัลและสิ่งของต่างๆ รวมกันหลายสิบล้านบาท
เพียงเพื่อจะมีส่วนร่วมสนุกกับการทายผลการแข่งขันในวันสุดท้าย ว่าที่สุดแล้ว…
ทีมชาติใด? จะได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกหนนี้
บางสื่อใช้หน้าหนังสือพิมพ์ของตัวเองเป็นคูปองร่วมสนุก บางสื่อร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จัดทายผลการแข่งขัน จนยอดขายไปรษณียบัตรสำหรับการทายผลการแข่งขันพุ่งกระฉูดนับหลายร้อยล้านฉบับ
แต่สิ่งนั้น แทบจะมองไม่เห็นในมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 นี้
สะท้อนให้เห็น…อำนาจการซื้อของคนไทยที่เหลือน้อยลง ขณะที่ภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะในกลุ่มรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนเอง ต่างตกพุ่มม่ายอย่างเดียวกัน นั่นคือ “รายได้ลดลง กำไรหดหาย” หากขืนและฝืนเดินหน้าลุย “สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง” แบบไม่ดูทิศทางและแนวโน้มกำลังซื้อของผู้บริโภคแล้ว
โอกาสเจ็บตัวหนักก็มีสูงทีเดียว!!!
ถึงตรงนี้ คงไม่ต้องบอกนะว่า…เศรษฐกิจในยุคสมัยนี้ “ดีขึ้นหรือตกต่ำลง” จึงไม่แปลกใจแต่อย่างใด หากมหกรรมฟุตบอลโลก 2018 ครั้งนี้ จะอยู่ในสถานการณ์ที่มีอาจสร้างภาวะ “เงินสะพัด” ได้เหมือนครั้งก่อนๆ
ลองล้วงเงินในกระเป๋าตัวเองดู ก็จะรู้คำตอบนี้เอง!!!.