บาทแข็ง…ปัจจัยท้าทายผู้ว่าธปท.

ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นแล้ว 4.3% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่เงินบาทอ่อนค่า 0.6% การแข็งค่าขึ้นมาเกือบ 5% ทำให้เป็นปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกนง.กังวล เพราะจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเปราะบางอยู่มาก
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ต้องประกาศ 3 มาตรการ เพื่อสกัดการแข็งค่าของเงินบาท เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นมาตรการที่เน้นให้คนไทย ทั้งรายใหญ่และรายย่อย นำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย และช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น
การประกาศมาตรการในรอบนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องการเปิดเสรี โดยไม่มีการกำหนดวงเงิน เหมือนในอดีต เช่นการเปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD) และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี

โดยผู้บริหารแบงก์ชาติ เชื่อว่า 3 มาตรการนี้จะทำให้ลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทได้ เพราะได้มีการหารือร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์และมีความเห็นร่วมกันแล้ว
แต่ก็มีเสียงที่ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ใช่มาตรการที่ใหม่ และไม่ใช่ที่สกัดเงินทุนไหลเข้าที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่าการเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้กับนักลงทุนไทย (เพื่อเพิ่มแรงซื้อเงินตราต่างประเทศ ชะลอเงินบาทแข็ง) เนื่องจากการกระจายพอร์ตการลงทุนยังขึ้นอยู่กับจังหวะและสภาพตลาดต่างประเทศ ผลตอบแทนเปรียบเทียบเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับกรณีนักลงทุนรายย่อย ขณะที่การกำหนดเกณฑ์ยืนยันตัวตนก่อนการซื้อขายตราสารหนี้ อาจช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากการพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีผลกับการเคลื่อนไหวของเงินบาทในบางช่วง แต่ไม่ใช่มาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้า
นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อาจหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะโน้มอ่อนค่าลงเพิ่มเติมในช่วงปีข้างหน้า ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ และสัญญาณการยืนดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ
และคาดว่าปีหน้า 2564 เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าผ่านระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยประเมินค่าเงินบาทที่ระดับ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2564 ทำให้ธปท.อาจจำเป็นต้องเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดความผันผวนในระยะสั้น และประเมินความจำเป็นของการปรับใช้มาตรการดูแลเงินบาทเพิ่มเติมอีกในระยะต่อๆไป

“ใน 3 มาตรการที่ ธปท.ออกมาครั้งนี้ เป็นมาตรการระยะยาว แต่ตอบโจทย์ระยะสั้นไปด้วยในตัว ช่วยทำให้ sentiment นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น ทำได้เสรีมากขึ้น สะดวกมากขึ้น” นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.
ขณะที่วงการตลาดเงินมองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากมาตรการดังกล่าวไม่มีประสิทธิผลเพียงพอที่จะชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และไม่ใช่เรื่องใหม่ ยกเว้นการกำหนดให้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ที่เป็นเรื่องใหม่
3 มาตรการ ลดการแข็งค่าของเงินบาท ได้แก่
1.เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD) และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน ตลอดจนทำให้คนไทยสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ.
2.ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับคนไทยและสนับสนุนให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น
– เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์ สรอ.ต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์ สรอ.ต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
– ไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
– เปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้

3.การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขาย ทำให้ ธปท. ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน
การปรับตัวแข็งค่าของเงินบาทยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะหลังประกาศมาตรการเงินบาทยังไม่มีการตอบรับกับมาตรการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ท้าทายในการกำหนดนโยบายภายใต้การบริหารงานของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 21 ของไทย