เตือนภัย…รับมือ…หนี้ NPL พุ่ง
ผ่านพ้นเส้นตายวันที่ 22 ต.ค. ไปแล้ว สถานการณ์ช่วยลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอันต้องยุติลง เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาสู่จุดเดิม หลังจากพักหนี้มายาวตั้งแต่ปลายเดือนก.พ 63 หรือเป็นเวลาเกือบ 8 เดือน
ผลปรากฎว่าลูกหนี้ที่มีเงินกู้อยู่กับธนาคารทั้งระบบประมาณ 7 ล้านล้านบาท และเมื่อจัดกลุ่มลูกหนี้พบว่า กลุ่ม 1.อยู่รอดปลอดภัยเป็นปกติ(สีเขียว)มีประมาณ 60% 2.กลุ่มลูกหนี้ที่กลับมาดำ เนินธุรกิจได้ แต่ยังไม่ฟื้นตัวดี มีอยู่ประมาณ 30% (สีเหลือง)
3.กลุ่มลูกหนี้ ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ คือกลุ่มที่ รัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ (สีแดง) ประมาณ 4% และ4.กลุ่มสุดท้าย(สีดำ)คือ ลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6%
ซึ่งกลุ่มที่น่าจับตามองคือสีแดง และสีเหลืองบางส่วน ถ้าพิจารณาแล้วมีสัดส่วนประมาณ 34% หากกลุ่มนี้มีปัญหาพร้อมกัน จะมีหนี้ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท และในจำนวนนี้หากเป็นNPL 10% จะเป็นเงิน 2.3 แสนล้านบาท และหากเป็นหนี้ NPL 20% คิดเป็นมูลหนี้ 4.6 แสนล้านบาท
จะเห็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าหนี้ที่อาจเป็นหนี้เสียสามารถพุ่งทยานเพิ่มขึ้นได้ จึงมีการเปรียบเปรยว่าสถานะของลูกหนี้ยืนอยู่ชิดขอบเหวมีเพียงรั้วกั้นเท่านั้นที่ทำให้ไม่ตกลงไปในเหว ซึ่งคือมาตรการพักหนี้ของธปท.ที่ถอนออกไปแล้ว
ดังนั้นสถานการณ์ของลูกหนี้บางรายจึงอยู่ในขั้นวิกฤติและอาจถึงขั้นล้มหายตายจากไปจากระบบเศรษฐกิจ แม้ล่าสุด แบงก์ขนาดใหญ่จะมีมาตรการออกมาดูแลลูกหนี้ของตัวเองเป็นรายกรณีหรือ Made to order ก็ตาม แต่ทุกธนาคารก็ยังไม่ทราบชะตากรรม ของลูกหนี้ตัวเองว่าสุดท้ายจะตกลงไปในเหวหรือไม่
ดังนั้นทุกอย่างจึงฝากไว้ที่อนาคต นับจากนี้ไปอีก 3 เดือน หรือต้นปีหน้า เมื่อน้ำลด ตอก็จะผุด เพราะNPL จะสะท้อนคุณภาพลูกหนี้และเพิ่มขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น แม้หนี้NPLที่ธปท.รายงานไตรมาส3 จะอยู่ที่ 3.14% เทียบกับไตรมาส 2 ที่ 3.09% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้มีนัยสำคัญ เพราะNPL ถูกปกคลุมจากมาตรการพักชำระหนี้ จงยังไม่ปรากฏออกมา
จึงทำให้มีคำถามจากกลุ่มนายธนาคารว่า มาตรการพักชำระหนี้ของธปท.ก่อนหน้านี้ มันดีหรือไม่ เพราะทำให้ไม่เห็นคุณภาพหนี้ และเมื่อเปิดออกมาก็เหมือนฝีที่แตก ซึ่งใครจะรับผิดชอบ ดังที่จะเห็นปรากฎการณ์ แบงก์แห่ ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นกันเป็นจำนวนมาก เช่น
ธนาคารไทยพาณิชย์ไตรมาส 3 ของปี 2563 ตั้งสำรอง 12,955 ล้านบาท โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารอยู่ในระดับสูงที่ 146% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.7%
ธนาคารกสิกรไทยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 17,692 ล้านบาท หรือ 70.24%อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 อยู่ที่ 18.45% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.74%
ธนาคารกรุงเทพ ณ สิ้นเดือนก.ย.2563 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่17.6% ,15.1% และ14.2% ตามลำดับ
การตั้งสำรองเป็นจำนวนมาก แม้จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร แต่ในอีกมุมก็ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
หุ้นกลุ่มแบงก์ที่เคยได้รับการจัดให้เป็นหุ้นทีให้ผลตอบแทนสูง แต่อาจไม่ใช่หุ้นBlue Ship อีกต่อไป แต่อาจจะเป็นหุ้นที่ต้องถือไว้ เพื่อส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน
ปรากฎการณ์ที่เกิดขั้นในปัจจุบัน จึงเห็นภาพธนาคารแสวงหากำไรที่ไม่ได้เกิดจากดอกเบี้ยแต่พุ่งไปที่การสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม เช่น ธุรกิจบัตรเครดิต ขายประกัน ธุรกิจดิลิเวอรี่ สินเชื่อดิจิทัล เพื่อทดแทนการปล่อยสินเชื่อ และลดการตั้งสำรอง
ในขณะที่หนี้ครัวเรือนก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2/2563 เพิ่มขึ้นไปแตะที่ 83.8% เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปี และสูงขึ้นจากไตรมาส 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.1% ต่อจีดีพี และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9.22 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/2563