คนละครึ่ง VS ช้อปดีมีคืน “ใครดีกว่า?”

โครงการ “คนละครึ่ง” เต็ม 10 ล.คนไปแล้ว แต่จะมีคนยอมถูกตัดสิทธิ แล้วหันไปเลือกใช้สิทธิ “ช้อปดีมีคืน” เพราะได้มากกว่าหรือไม่? ต้องไตร่ตรองให้รอบด้าน! เว็บไซต์ AEC10NEWS นำ 2 โครงการมา “ชั่งตวงวัด” เทียบ “ข้อดี-ข้อเสีย” กันแบบ “ปอนด์ต่อปอนด์” ให้แล้ว…ลองไปสำรวจดูกันเอง

10 ล้านคนแล้วจ้า…สำหรับยอดคนลงทะเบียนในโครงการ “คนละครึ่ง”
เต็มจำนวน…ตามที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังตั้งเป้าเอาไว้ ตั้งแต่เวลา 22.50 น. ของคืนวันที่ 27 ต.ค.2563
ทั้งนี้ หากไร้คนไม่ได้ใช้สิทธิ ภายใน 14 วัน จนระบบต้องตัดสิทธิอัตโนมัติล่ะก็ ถือว่าโครงการนี้ เสร็จสมบูรณ์แบบแล้ว ที่เหลือรอเพียงการใช้จ่ายของประชาชน อายุ 18 ปีขึ้นไป จนกว่าจะครบวงเงินสิทธิละ 3,000 บาท โดยต้องเติมเงินลงใน แอปฯ “เป๋าตัง” และทยอยใช้จ่ายไม่เกินวันละ 150 บาท
ประชาชนใช้จ่ายเท่าไหร่ รัฐช่วยจ่ายอีกครึ่งนึง
หากวงเงินไม่เต็ม 3,000 บาทเสียก่อน ผู้ได้รับสิทธินี้ จะลากการใช้จ่ายได้ยาวไปจนถึง 31 ธ.ค.2563
แต่อาจจะมีคนอีกกลุ่มที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ “เลือกใครดี” ระหว่าง…โครงการ “คนละครึ่ง” ที่รัฐยอมควักจ่ายให้ครึ่งนึง…และให้ทันที!
กับ โครงการ “ช้อปดีมีคืน” ที่รัฐยอมให้ผู้ได้รับสิทธิ นำค่าใช้จ่ายไปหักภาษีได้สูงสุดเต็มเพดานที่ 30,000 บาท ในช่วงการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่กว่าจะได้รับสิทธินี้ ก็โน่นเลย…ต้นปี 2564

เลือกโครงการหนึ่ง…ก็ต้องยอมทิ้งอีกโครงการหนึ่ง!
หากดูที่ เงื่อนไขด้านเวลา…การใช้สิทธิ์ใน โครงการ “คนละครึ่ง” คุณได้รับสิทธิ์นั้นทันทีที่จ่ายเงิน
ขณะที่ โครงการ “ช้อปดีมีคืน” คุณต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยนำไปคำนวณวงเงินที่จะได้คืน ผ่านการหักภาษีฯ ในช่วงต้นปีหน้า
พูดให้ชัด! กว่าจะได้รับสิทธิ์คืนเงิน ก็รอเวลาไม่น้อยกว่า 4-5 เดือน นับจากวันแรกที่คุณใช้จ่ายไป
ดังนั้น เงื่อนไขแรก…โครงการ “คนละครึ่ง” ดูดีกว่า
เงื่อนไขต่อมา…ด้านวงเงิน ที่ผู้มีสิทธิจะได้รับคืน 3,000 บาทสำหรับโครงการ “คนละครึ่ง” วงเงินนี้ Fixed ตายตัว อย่างแน่นอน! ไม่มีทางที่ คุณหรือใคร?…จะได้มากกว่า มีแต่จะน้อยกว่า…ถ้าคุณใช้จ่ายไม่เต็มเพดานที่รัฐวางกรอบไว้
ขณะที่โครงการ “ช้อปดีมีคืน” แม้รัฐจะกำหนด เพดานสูงสุดที่ 30,000 บาทต่อคนต่อโครงการ ก็ไม่ได้หมายความว่า…คุณจะได้รับสิทธิ์คืนเงิน เต็มเพดานฯแต่อย่างใด?
เพราะจะต้องนำไปคำนวณกับ ฐานอัตราภาษีที่คุณจ่ายในแต่ละปี เทียบกับรายได้ที่มี ตั้งแต่ระดับ 0% สำหรับรายได้ไม่เกิน 150,000 บาท, 5% สำหรับรายได้ระหว่าง 150,000 – 300,000 บาท, 10% สำหรับรายได้ระหว่าง 300,001 – 500,000 บาท เรื่อยไปจนถึงระดับ 35% สำหรับรายได้ตั้งแต่ 5,000,000 บาทขึ้นไป

ตรงนี้…มีการคำนวณคร่าวๆ ออกมาแล้วว่า ถ้าคุณมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 500,000 บาท คุณจะได้รับเงินคืนจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ในอัตราฐานภาษี 10% เมื่อทอนออกมาเป็นตัวเงิน จะเท่ากับ 30,000 บาท x 10% = 3,000 บาท เป็นตัวเลขเท่ากัน
นั่นหมายความว่า…หากคุณเป็นคนในกลุ่มนี้ แนะนำให้ใช้สิทธิในโครงการ “คนละครึ่ง” เพราะคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ จะได้รับเงินคืนจากรัฐมากกว่า ที่สำคัญ…รับได้ในทันที!
แต่ หากคุณอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป จะได้รับเงินคืนฯ จากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ในอัตราฐานภาษี 15% เมื่อคำนวณออกมาขั้นต่ำที่คุณจะได้รับเงินคืน 30,000 บาท x 15% = 4,500 บาท และสูงสุดที่จะได้รับคือ 30,000 บาท x 35% = 10,500 บาท
กรณีนี้…ขอแนะนำให้คุณสละสิทธิ หากได้ลงทะเบียนกับโครงการ “คนละครึ่ง” ไปก่อนหน้า โดยไม่ใช้จ่ายตามสิทธิที่ได้รับภายใน 14 วัน เมื่อสิทธิ์ถูกตัดไปแล้ว คุณค่อยไปสมัครเข้าร่วมโครงการ “ช้อปดีมีคืน” เพราะคุณจะได้รับเงินคืนมากกว่า เพียงแต่จะไม่ได้ในทันที ตามเหตุผลข้างต้น
สรุป! เงื่อนด้านวงเงินฯ คนที่มีรายได้น้อย ไม่เกิน 500,000 บาท ควรใช้สิทธิ์ในโครงการ “คนละครึ่ง” แต่หากมีรายได้มากกว่า 500,000 บาทขึ้นไป คุณควรใช้สิทธิ์ในโครงการ “ช้อปดีมีคืน”
1 วันก่อนหน้านี้ นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ใน ฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ออกมาระบุ ในช่วงที่มีผู้ลงทะเบียนในโครงการ “คนละครึ่ง” มากกว่า 9.4 ล้านคน โดยย้ำว่า ณ ขณะนั้น มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 3.8 แสนร้านค้า

ฐานข้อมูลสำคัญ คือ ณ วันที่ 26 ต.ค.2563 มียอดการใช้จ่ายสะสม 704.5 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 362.5 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 342 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 232 บาทต่อครั้ง โดยใช้จ่ายครบทุกจังหวัด
จังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ สงขลา และนครศรีธรรมราช
รองโฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า ค่าใช้จ่ายของประชาชนครึ่งหนึ่งที่ใช้จ่ายกับร้านค้า ซึ่งร้านค้าจะได้รับยอดรวมโอนเข้าบัญชีที่ลงทะเบียนทุกสิ้นวัน ในช่วง 02.00 น. – 6.00 น. ตามระบบชำระเงินของธนาคาร สำหรับส่วนที่ภาครัฐร่วมจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง ร้านค้าจะได้รับในวันทำการถัดไป ในช่วง 17.30 – 19.00 น. โดยยอดการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดภาครัฐจะโอนให้ทันทีในวันทำการถัดไป
สำหรับในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 23 – 25 ต.ค. ในส่วนที่ภาครัฐร่วมจ่าย วงเงินสูงถึง 212 ล้านบาท ทั้งนี้ ภาครัฐได้โอนให้ร้านค้า 96,359 แห่งเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (26 ต.ค.) ที่ผ่านมา รวมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงระบบการจ่ายเงินให้ร้านค้าให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี หากร้านค้าใดยังไม่ได้รับเงิน ขอให้ติดต่อธนาคารกรุงไทย เพื่อตรวจสอบสถานะบัญชีของท่านว่า เป็นบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวนานเกิน 1 ปีหรือไม่ หรือมีปัญหาอื่นใด
ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมไทย ก็คือ กรณีกลุ่มคน “สมรู้ร่วมคิด” ทำการชวนเชื่อในการดำเนินการโดยไม่มีการใช้จ่ายจริงตามเงื่อนไขโครงการ นั้น

เรื่องนี้ รองโฆษกกระรวงการคลัง ย้ำเตือนว่า…ภาครัฐมีระบบการติดตามตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติ รวมทั้งมีการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการในติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว
“หากพบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือมีการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ ภาครัฐจะดำเนินการระงับการจ่ายเงิน ทั้งฝั่งร้านค้าและประชาชนทันที” นายพรชัย ระบุและว่า
ไม่เพียงแค่นั้น หากตรวจสอบพบว่า…การใช้จ่ายผิดเงื่อนไขโครงการจริง จะต้องมีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
จึงขอให้ประชาชนและร้านค้า โปรดอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนตามโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ ในการช่วยดำเนินการโดยไม่มีการใช้จ่ายจริงอย่างเด็ดขาด! เพราะอาจตกเป็นเหยื่อในการสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้
ทั้งนี้ ภาครัฐมุ่งหวังให้โครงการคนละครึ่งสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ตลอดจนช่วยให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้นได้จริง.