“โรดแมพ” ยังคงเดิม
แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงโศกเศร้า ที่ปวงชนชาวไทยถวายความอาลัยแด่องค์ “ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ”
นานาชาติรวมถึง “ องค์การสหประชาชาติ ” เองก็ร่วมสดุดีและถวายความอาลัยอย่างสมพระเกียรติแต่กระนั้น ถึงบรรยากาศของประเทศที่ยังโศกเศร้า สงบนิ่งเพื่อร่วมถวายความอาลัย ก็ค่อยกลับมามีความเคลื่อนไหวให้เห็น
รวมถึงทางด้าน “ การเมือง ” ที่หยุดนิ่ง ก็กลับมามีความเคลื่อนไหวแบบช้าๆ อีกครั้ง
ดังเช่นที่ ” บิ๊กตู่ “ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กลับมาตอกย้ำความมั่นใจในโรดแมพที่เคยสัญญากับนานาชาติอีกครั้ง
ในการพบกับ ” เซนอน คุคชัค “ เอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ในการพบกันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในโอกาสที่ท่านทูตเซนอนมาเข้าพบในโอกาสอำลาตำแหน่ง
โอกาสนี้ ” บิ๊กตู่ “ ได้ยืนยันว่าต่อหน้าจะเดินตามโรดแม็พที่วางไว้แน่นอน
” สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเดินตามโรดแมปของรัฐบาลในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและรัฐบาลบริหารประเทศด้วยความโปร่งใสปราศจากการทุจริต จึงขอให้โปแลนด์และสหภาพยุโรปมั่นใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลแม้จะเป็นการพูดจากันสั้นๆบทสนทนาอาจจะไม่ยาวมากนัก แต่ก็เป็นคำมั่นที่ส่งสัญญาณไปถึงนานาชาติ ที่ยังคงจับตาและรอคอย “ คำสัญญา ” ที่บิ๊กตู่เคยประกาศไว้ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาติเมื่อปีก่อน “
ดังนั้น ช่วงนี้จะเริ่มกลับมาเห็นข่าวสารการเดินหน้าไปตาม “ โรดแมพ ” ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) วางเอาไว้
ที่บอกว่าบรรยากาศการเมืองกลับมาเคลื่อนไหวแบบช้าๆนั้น ดูได้จากความเคลื่อนไหวที่เป็นไปตามจังหวะของรัฐธรรมนูญ ที่กำลังมีการเตรียมขยับเดินหน้าต่อ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้ปรับแก้ไขคำปรารภร่างรัฐธรรมนูญ
ส่งผลทำให้กระบวนการตามโรดแมพ เริ่มกลับมาไหลไปตามขั้นตอน ที่ดำเนินการคู่ขนานกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ ที่เริ่มมีความคืบหน้าเป็นระยะ
รวมถึงร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ คือ 1.ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 2 ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 3.ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ 4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
และระหว่างนี้ที่รัฐบาลก็อยู่ในขั้นของการเตรียมขึ้นทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามกรอบเวลาที่กำหนดให้เสร็จใน 30 วัน ซึ่งกรอบเวลานี้จะสิ้นสุดในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
และจากนั้นมีเวลาต่อไปอีก 90 วัน เพื่อรอให้ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
ดังนั้น ถ้าดูตามกระบวนการและขั้นตอนเหล่านี้ เรียกได้ว่า กลไกการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญยังเดินหน้าไปตามปกติ
และปฏิทินการเลือกตั้งที่ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เคยประกาศเอาไว้ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ณ เวลานี้
แต่ทว่ามีการตั้งข้อสังเกตกันว่า หากพลิกไปดูเงื่อนเวลาตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ที่เขียนโดยคสช.เอง กลับพบว่า จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้ในช่วงปลายเดือนม.ค.หรือต้นเดือนก.พ.ปี 2560 และจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2560 นั้น เรียกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก
เพราะกระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มีกรอบเวลา 240 วัน แล้วส่งให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
นอกจากนี้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังต้องส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบสนช. แล้วให้องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญและกรธ.พิจารณาว่าตรงตามเจตนารมณ์ที่สนช.เห็นชอบหรือไม่ภายใน 10 วัน
และหากร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญไม่มีปัญหา ก็สามารถส่งให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้
แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่วมกันใหม่อีกครั้ง และส่งให้สนช.พิจารณาอีกครั้งภายใน 15 วัน
จะเห็นได้ว่าถ้าอ้างอิงจากกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 จะพบว่าการตรากฎหมายลูกจะเสร็จสิ้นภายใน 10 เดือน คือในช่วงปลายปี 2560 ก็เท่ากับว่าจะยังไม่สามารถกำหนดให้มีการเลือกตั้งได้ทันทีในปี 2560
เพราะการจัดให้มีการเลือกตั้งต้องอยู่ภายใน 150 วัน หลังพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จึงมีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2561 ไม่ใช่ปี 2560 ตามโรดแมพที่คสช. วางไว้
ว่ากันว่า ในมุมของ “กรธ.” คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ “อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานกรธ. นั้นรู้เรื่องนี้อยู่เต็มอกว่า โรดแมพการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไปอีกเล็กน้อยแน่นอน
มีชัยจึงได้ออกมาเน้นย้ำมาตลอดให้มีการดำเนินการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะหากการเลือกตั้งต้องเลื่อนเวลาออกไปในต้นปี 2561 ย่อมกระทบต่อ “คำสัญญา” ต่อประชาคมโลก ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศ และอาจเกิดกระแสตีกลับที่จะกลับมาเป็นแรงกดดันรัฐบาลและคสช.ขึ้นมาแน่นอน
แต่งานนี้ คสช.และรัฐบาล ไม่ได้ปล่อยให้ กรธ.ต้องเผชิญกับศึกรอบด้านอยู่ลำพัง เพราะถือว่า กรธ. ก็เป็นแม่น้ำสายหนึ่ง ที่คสช.และรัฐบาลต้องนำพาแม่น้ำสายนี้ไปถึงฝั่งจนได้
คนหนึ่งที่ออกแรงช่วย กรธ. อยู่หลายต่อหลายครั้ง คือ “วิษณุ เครืองาม” ที่ขาข้างหนึ่งก็เป็นฝ่ายกฎหมายของคสช. และขาอีกข้างหนึ่งก็เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ที่มีคนอย่างอาจารย์มีชัย เป็นครูบาอาจารย์ที่เคารพและรู้ใจกันดี ก็ออกมาช่วยผ่อนแรงปะทะให้
อาจารย์วิษณุ ยังพูดจาหนักแน่นยืนยัน
“จะไม่มีการขยับหรือเลื่อนการเลือกตั้งออกไป แม้ในช่วงระหว่างนี้จะยังไม่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การที่บอกว่าประกาศใช้รัฐธรรมนูญช้าแล้วทุกอย่างเดินช้าไม่จริง ทุกอย่างอย่าไปคิดว่าช้า อยู่ในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้แล้ว”
ทั้งบิ๊กตู่และอาจารย์วิษณุ ออกมายืนยันโรดแมพฟันธงชัดๆ ก็ช่วยตอกย้ำความหนักแน่น สร้างความมั่นใจให้กับชาวโลก เพื่อสยบข่าว “โรดแมพเลื่อน” ให้นิ่งเงียบในที่สุด
ซึ่งการยืนยันเงื่อนเวลาของโปรแกรมต่างๆ เป็นการแสดงความมั่นว่า ทุกอย่างยังคงอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลและคสช.สามารถคอนโทรลโรดแมพตามกำหนดเวลาเดิมได้
แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือท่าทีของ “สหประชาชาติ” ต่อประเทศไทย ที่จัดประชุมนัดพิเศษ เพื่อร่วมถวายความอาลัยฯ อย่างยิ่งใหญ่ มองได้ว่านี่เป็นสัญญาณบวกที่ต้องขอบคุณ เพราะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า “ยูเอ็น” และนานาชาติแสดงเข้าใจในสถานการณ์ของประเทศไทย
ที่แม้ว่าโรดแมพจะคงเดิมหรือขยับไป เชื่อเถอะว่าคนไทยเองและนานาชาติก็คงไม่ได้กดดันคสช. ให้จนมุมขนาดนั้น