ผลตอบแทนหุ้นไทย9เดือน15%
ตลาดหุ้นไทยสิ้นสุดงวด 9เดือนของปี2559 อัตราผลตอบแทนยืนระดับ 15% นักลงทุนต่างชาติครองยอดซื้อสุทธิ 1.32 แสนล้านบาท ขณะที่โบรกเกอร์คาดการณ์ไตรมาสสุดท้ายแรงซื้ออาจแผ่ว
เพราะมีปัจจัยกดดันโดยเฉพาะปัญหาดอยช์แบงก์ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ รวมถึงอาจมีแรงขายทำกำไรออกมาอย่างต่อเนื่อง
สรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงก.ย.2559 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 1,288.02 จุดมาอยู่ที่ 1,483.21 จุด เพิ่มขึ้น 195.19 จุดหรือ คิดเป็นอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 15.15%
สำหรับดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น โดยกลุ่มอาหารเพิ่มขึ้น30.71% กลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 17.53%กลุ่มปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น 21.83%
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 6.09% กลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้น 26.50% กลุ่มพาณิชย์เพิ่มขึ้น 32.65% กลุ่มสื่อสารเพิ่มขึ้น 7.63%
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับลดลง หรือให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้างลดลง 9.37%กลุ่มมีเดีย ลดลง7.93%กลุ่มท่องเที่ยว ลดลง 4.25% กลุ่มธุรกิจประกันลดลง 13.21%
ขณะที่การลงทุนแยกประเภทนักลงทุน พบว่า นักลงทุนต่างชาติยังมียอดซื้อสุทธิ 1.3 แสนล้านบาท ส่วนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท นักลงทุนรายย่อย เป็นฝ่ายขายสุทธิ 1.01 แสนล้านบาท และและสถาบันในประเทศ 5หมื่นล้านบาท
หุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่สามารถให้ผลตอบแทนมากสุด รอบ 9 เดือนนี้ คือ หุ้นไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เพิ่มขึ้น 211.6% ปิดที่ 4.8 บาท รองลงมาคือหุ้นมาลีกรุ๊ป (MALEE) เพิ่มขึ้น 179.8% ปิดที่ 79.75 บาท
ส่วนหุ้นที่ปรับตัวลงมากที่สุดคือ หุ้นโซลาร์ตรอน (SOLAR) ลดลง 59.59% รองลงมาคือหุ้นบางปะกง เทอร์มินอล (BTC) ลดลง 57.89%
ในด้านของภาพรวมตลาดเอ็มเอไอ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.57% ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 551.47จุด สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มเกษตร เพิ่มขึ้น 36.15% กลุ่มสถาบันการเงิน 12.31% กลุ่มอุตสาหกรรม 11.46% กลุ่มทรัพยากร 12.94% กลุ่มบริการ 1.48%
กลุ่มที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มอุปโภคบริโภค ลดลง 10.42% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างลดลง 14.08% และกลุ่มเทคโนโลยี ลดลง 29%
บล.กสิกรไทยระบุว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4ปีนี้น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบไม่กว้าง (Sideway) และน่าจะซึมลง เพราะโดยปกติแล้วไตรมาส 4ของทุกปี ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะเป็นฝ่ายขายสุทธิออกมา แต่คงจะเห็นนักลงทุนสถาบันหันกลับมาซื้อสุทธิได้ช่วงสิ้นปี
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศจะเป็นตัวฉุดไม่ให้ตลาดปรับตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ เศรษฐกิจยุโรปที่ตึงตัวจากความกังวลต่อภาคธนาคาร และเงินหยวนจะเริ่มเข้ามาอยู่ในตระกร้าเอสบีอาร์ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้
ส่วนการเลือกตั้งสหรัฐยังคงมีความไม่แน่นอน ด้านปัจจัยในประเทศ เช่นตัวเลขการส่งออก รวมถึงภาครัฐอาจจะมีมาตรการกระตุ้นออกมาช่วงปลายปี น่าจะช่วยให้ดัชนียืนอยู่ได้ มองแนวต้าน 1,540 จุด ส่วนแนวรับ 1,400 – 1,450 จุด เป็นจุดที่น่าสนใจในการเข้าซื้อลงทุน
“ระยะสั้นอาจจะเห็นแรงขายของนักลงทุนต่างชาติออกมาบ้าง ทำให้ดัชนีปรับตัวลงมาบริเวณแนวรับ ซึ่งเป็นจุดที่น่าเข้าซื้อสะสม ส่วนหุ้นที่น่าสนใจนั้น แนะนำเลือกตามธีม ได้แก่ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น หุ้นโตเร็ว หุ้นรับมาตรการกระตุ้นและหุ้นเทิร์นอะราวด์ “
บล.บัวหลวงประเมินแนวโน้มในเดือน ต.ค.นี้ คาดผันผวน มองตลาดมีโอกาสลงมาให้ได้ซื้อของถูกอีกรอบ แนะลงซื้อเพิ่มอีก หลังจากเมื่อเดือนก.ย.ลงไปบริเวณ 1,400 จุด (แนะซื้อ50% ของพอร์ต) เดือน ต.ค.คาดแนวรับ 1,440 จุด กรณีปิดต่ำกว่า 1,437 จุดตัดขาดทุน ส่วนแนวต้านเดือน ต.ค.คาด 1,530 จุด ปัจจัยที่มีผลต่อตลาด คือ การทำทวนผลประกอบการงวดไตรมาส3ปีนี้ของบริษัทจดทะเบียนไทย , ผลดีเบตก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
บล.เอเซียพลัสเชื่อว่าดัชนีหุ้นไทยยังมีโอกาสทดสอบ 1,500 จุด แต่ผันผวนจะเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง และมีโอกาสผ่านไปได้ยาก อีกทั้งนับตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. ซึ่งเป็นวันแรกที่ตลาดหุ้นไทยรีบาวน์ขึ้น ดัชนีปรับขึ้นถึงกว่า 5.83%
โดยดัชนีเซท50 ปรับขึ้นถึง 5.8% ขณะที่หุ้น ไม่ได้อยู่ในเซท50 ปรับขึ้นน้อยกว่า คือ 5.56% จึงทำให้เชื่อว่าหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคป( Market Cap) ใหญ่น่าจะเริ่มชะลอลง และน่าจะไปโฟกัสที่หุ้นขนาดกลาง-เล็กมากขึ้น
นอกจากนี้ หากมองกันที่ปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ก็ยังไม่มีประเด็นบวกใหม่ๆ เข้ามาหนุนตลาด อีกทั้งกระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มชะลอลงดังกล่าว จึงทำให้ภาพรวมดัชนีหุ้นไทยยังแกว่งในกรอบ 1480-1500 จุด
ในส่วนของการทำ Earnings Preview ผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2559 นั้น คาดว่าไม่มีน้ำหนักหนุนดัชนี เพราะหุ้นใหญ่ทั้ง ธนาคาร สื่อสาร และ พลังงานอยู่ในภาวะชะลอตัวเมื่อเทียบกับผลกำไรงวดครึ่งแรกของปี2559 จึงเหลือเฉพาะหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่ยังแสดงกำไรโดดเด่นตามผลของฤดูกาลในงวดไตรมาส 3ปีนี้ประกอบด้วย
หุ้นกลุ่ม ร.พ. : คาดผลประกอบการเด่นจากการเข้าสู่ช่วง High Season ในงวดไตรมาส 3/59 แต่หุ้นหลายแห่งราคาปรับขึ้นมาแล้ว
กลุ่มส่งออกอาหาร : ราคาขยับขึ้นไปมากแล้วเช่นกัน อีกทั้งการเข้าสู่เทศกาลกินเจ อาจทำให้ราคาสุกร-ไก่ ปรับลงบ้าง แนะนำซื้อเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวลง
กลุ่มเกษตร : ราคาน้ำตาลปรับลดลงเล็กน้อย แต่ยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งยังได้ประเด็นบวกจากรายได้พิเศษจากบริษัทลูก แนะนำหาจังหวะซื้อสะสมเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวลง
กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ : ปัจจัยฤดูกาลยังส่งผลดีต่อกลุ่มชิ้นส่วนฯ
กลุ่มลิสซิ่ง : คาดผลกำไรงวดไตรมาส 3ปีนี้จะดีกว่างวดไตรมาส 2ปีนี้ ประกอบกับล่าสุดรัฐมี มาตรการ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย น่าจะหนุนกำลังซื้อ และ ผ่อนคลาย การตั้งสำรองฯ ของ กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง ได้แก่ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และ สินเชื่อจักรกลการเกษตร
สรุปภาพรวมของตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่ ดัขนีตลาดหุ้นจะผันผวนและอาจมีแรงเทขายทำกำไรรยะสั้นออกมาเป็นระยะ และจะทำให้ดัชนีไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้ไกลนัก